โรค แมลง ศัตรูพืชและการเข้าทำลาย... มะม่วงในฤดูแล้ง
 
เผยแพร่ : วันที่ 12 เมษายน 2559
 
 
เพลี้ยจักจั้นมะม่วง
   
 
 
   
ลักษณะการเข้าทำลาย
                       พบระบาดทั่วไปทุกพื้นที่ที่ปลูกมะม่วง   พบได้ตลอดทั้งปีแต่ปริมาณประชากรของเพลี้ยจักจั่นจะเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วง
ออกดอก ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะทำลายใบอ่อน ช่อดอก ก้านดอก และยอดอ่อน ระยะที่ทำความเสียหายมากที่สุด คือ ระยะที่มะม่วงกำลังออกดอก โดยจะดูดน้ำเลี้ยงจาก ช่อดอกทำให้แห้งและดอกร่วง ติดผลน้อยหรือไม่ติดเลย ระหว่างที่เพลี้ยจักจั่นดูดกินน้ำเลี้ยง จะถ่ายมูลมีลักษณะเป็นน้ำเหนียว ๆ คล้ายน้ำหวานติดตามใบ      ช่อดอก ผล และรอบ ๆ ทรงพุ่ม ทำให้มะม่วงเปียกเยิ้มต่อมาตามใบช่อดอกจะถูกปกคลุมโดยเชื้อราดำ ถ้าปกคลุมมากก็จะกระทบกระเทือนต่อการสงเคราะห์แสง ใบที่ถูกดูดน้ำเลี้ยงในระยะเพสลาดใบจะบิดงอโค้งลง     ด้านใต้ใบตามขอบใบจะมีอาการปลายใบแห้ง
 
การควบคุมและป้องกัน
                        1. หมั่นตรวจติดตามสถานการณ์หากพบการระบาดใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัด เช่น เชื้อราขาวบิวเวอร์เรีย, เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม

                        2. ประเมินความเสียหายจากเพลี้ยจักจั่นมะม่วง โดยตรวจเพลี้ยจักจั่นที่ช่อดอกทุก 3 - 5 วัน หากสำรวจพบจักจั่นที่ช่อดอกมากกว่า 5 ตัวต่อช่อ ควรใช้สารเคมีกำจัดแมลง เช่น คาร์บาริล (85% WP) 45 - 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ในระยะก่อนมะม่วงออกดอก1 ครั้งและเมื่อเริ่มแทงช่อดอก 1 ครั้ง และหมั่นตรวจดูตาม  ช่อดอกอยู่เรื่อย ๆ  ถ้าพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยในจำนวน มากกว่า 5 ตัวต่อช่อ ควรพ่นอีก 1 - 2 ครั้ง ในระยะดอกตูมและก่อนดอกบาน

                         3 . ในระยะที่ดอกกำลังบาน ให้พ่นน้ำปล่าในตอนเช้าจะช่วยให้การติดผลมะม่วงดีขึ้น แต่ควรปรับหัวฉีดอย่าให้กระแทก
ดอกมะม่วงแรงเกินไป
 
เพลี้ยไฟ
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                        แมลงชนิดนี้ระบาดเมื่ออากาศร้อนและแห้งแล้ง ถ้ามีการระบาดรุนแรงเพลี้ยไฟจะทำลายมะม่วงในระยะผลอ่อน ช่อดอก และผลอ่อนระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน ซึ่งอยู่ในช่วงมะม่วงเริ่มแทงดอกในระยะเดือยไก่ และปริมาณประชากรจะลดลงในระยะดอกตูม และพิ่มขึ้นเมื่อดอกใกล้บานจนถึงดอกบานเต็มที่ จากนั้นจะเริ่มลดลงเมื่อเริ่มติดผล และจะพบน้อยมากเมื่อผลผลิตใกล้เก็บเกี่ยว ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากเจาะและดูดน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืชบริเวณใบอ่อนและยอดอ่อน ตุ่มตาใบและผลอ่อนทำให้เซลล์บริเวณนั้นถูกทำลายสังเกตพบผลอ่อนที่ถูกทำลายจะร่วง กรณีที่่ระบาดไม่รุนแรงจะปรากฏแผลชัดเจน เป็นวงที่ขั้วผลมะม่วง
                          - ใบ เพลี้ยไฟจะทำให้ใบที่แตกใหม่แคระแกรน  ขอบใบและปลายใบไหม้ ใบอาจร่วง สำหรับใบแก่ ขอบใบจะมวนงอ
ปลายใบไหม้
                          - ยอด ถ้าเป็นการทำลายที่รุนแรงทำให้ยอดแห้งไม่แทงช่อใบหรือช่อดอกออกมาได้
                          - ช่อดอก การทำลายในระยะติดดอก จะทำให้ช่อดอกหงิกงอ ดอกร่วงไม่ติดผลหรือทำให้ติดผลน้อย
                          - ผล ที่ขั้วผลอ่อนจะเห็นเป็นวงสีเทาเกือบดำ หรือผลบิดเบี้ยวถ้าการทำลายรุนแรงผลมะม่วงจะเป็นสีดำเกือบทั้งหมด
 
การควบคุมและป้องกัน
                       1. หมั่นตรวจติดตามสถานการณ์ถ้าพบไม่มากนักให้ตัดส่วนที่แมลงระบาดไปเผาทิ้ง      เพราะเพลี้ยไฟมักจะอยู่เป็นกลุ่มบริเวณยอดอ่อนของพืช

                       2. การพ่นสารเคมีกำจัดแมลง  ควรพ่นในระยะติดดอกอย่างน้อย   2 ครั้ง คือ เริ่มแทงช่อดอก   และเริ่มติดผลขนาดเท่ามะเขือพวง (ประมาณ 0.5 - 1 ซม.) ถ้าหากตรวจพบเพลี้ยไฟระบาดเกิน 30% ของช่อจำเป็นต้องพ่นซ้ำในระยะก่อนดอกบานสารฆ่าแมลงที่แนะนำคือ ไซฮาโลทริน (2.5% อีซี) 7 มล. 20 ลิตร        หรือเฟนโพรพาทริน (10% อีซี) อัตรา 30 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์บาริล (85% ดับบลิวพี) 45 - 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
 
แมลงวันผลไม้
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                       ความเสียหายของแมลงวันผลไม้มักจะเกิดขึ้นเมื่อเพศเมียใช้อวัยวะวางไข่(ovipositor) แทงเข้าไปในผลมะม่วงที่ใกล้สุก
ตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะอาศัยและชอนไชอยู่ภายใน ทำให้ผลเน่าเสียและร่วงหล่นลงพื้น     ในระยะเริ่มแรกจะสังเกตได้ยากอาจพบอาการช้ำบริเวณใต้ผิวเปลือก    เมื่อหนอนโตขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ผลเน่าเละและมีน้ำไหลเยิ้มออกทางรู     ที่หนอนเจาะออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดิน
 
การควบคุมและป้องกัน
                        1. การทำความสะอาดบริเวณแปลงเพาะปลูก โดยการรวบรวมผลไม้ที่เน่าเสียหายอันเนื่องมาจากถูกแมลงวันผลไม้เข้า
ทำลายโดยการนำไปทำน้ำหมักชีวภาพหรือฝังดินที่ความลึก 50 ซม.

                       2. การห่อผลด้วยถุงกระดาษเมื่อผลมะม่วงอายุ 40 - 50 วันหลังดอกบาน  ห่อให้มิดชิดไม่ให้มีรูหรือรอยฉีกขาดเกิดขึ้น มิฉะนั้นแมลงจะเข้าไปวางไข่ได้

                        3. ใช้สารล่อเมทิลยูจินอลร่วมกับสารเคมีกำจัดแมลงอัตราส่วน 3 : 1 โดยปริมาตรในกับดักสารล่อเพื่อใช้ล่อแมลงวันผลไม้เพศผู้

                       4. การใช้เหยื่อพิษ โดยการนำเอายีสต์โปรตีนออโตไลเสทหรือโปรตีนไฮโดรไลเสทมาเป็นเหยื่อล่อแมลงวันผลไม้ โดย
ใช้ยีสต์โปรตีนออโตไลเสทหรือโปรตีนไฮโดรไลเสท 800 ซีซี ผสมกับสารเคมีกำจัดแมลง จำนวน 280 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร โดยสามารถนำไปใช้ได้ 2 วิธี ดังนี้
                              - บรรจุลงภาชนะ แล้วนำไปแขวนตามที่ต่าง ๆ ที่สำคัญต้องแขวนให้สูงพ้นมือเด็ก
                              - ฉีดพ่นโดยใช้หัวฉีดขนาดใหญ่ ให้สารละลายเหยือพิษที่ฉีดออกมาเป็นหยดขนาด 4 - 5 มล. หรือ 80 หยดต่อ
พื้นที่ 1 ตร.ม ส่วนผสมนี้สามารถนำไปพ่นแบบเป็นจุด 2 - 4 จุดต่อต้น อัตราที่ใช้ 150 - 350 ซีซี ต่อไม้ผล 1 ต้น ขึ้นอยู่กับขนาดของต้น จะสามารถดึงดูดได้ทั้งแมลงวันผลไม้ตัวผู้และตัวเมีย
 
                          
 

ข้อมูลจาก : http//www.lamphun.doae.go.th/ 
                www.agriqua.doae.go.th/plantclinic/Clinic/plant
                เอกสารเผยแพร่วิชาการเพื่อส่งเสริมการควบคุมแมลงวันผลไม้เพื่อการส่งออก กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
                         ปี 2551. กรมส่งเสริมการเกษตร

 
 
Copyright © 2014 กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร.02 - 955 - 1626, 02 - 955 - 1514