โรค แมลง ศัตรูพืชและการเข้าทำลาย... ส้มโอในฤดูแล้ง
 
เผยแพร่ : วันที่ 12 เมษายน 2559
 
 
แมลงวันผลไม้
   
 
 
   
ลักษณะการเข้าทำลาย
                       ความเสียหายของแมลงวันผลไม้มักจะเกิดขึ้นเมื่อเพศเมียใช้อวัยวะวางไข่ (ovipositor) แทงเข้าไปในผลส้มโอที่ใกล้สุก ตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะอาศัย   และชอนไชอยู่ภายในทำให้ผลเน่าเสีย  และร่วงหล่นลงพื้น   ในระยะเริ่มจะสังเกตได้ยากอาจพบอาการซ้ำ
บริเวณใต้ผิวเปลือก เมื่อหนอนโตขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ผลเน่าเละและมีน้ำไหลเยิ้มออกทางรูที่หนอนเจาะออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดิน
 
การควบคุมและป้องกัน
                        1. ทำความสะอาดบริเวณแปลงเพาะปลูก  โดยการรวบรวมผลไม้ที่เน่าเสียที่ถูกแมลงวันผลไม้ทำลาย  นำไปทำปุ๋ยหมัก
ชีวภาพหรือฝังดินที่ความลึก 50 ซม. ขึ้นไป 
 
                        2. การห่อผลส้มโอด้วยถุงกระดาษเมื่อผลอายุ  3 - 4 เดือนหลังดอกบาน  ห่อให้มิดชิดไม่ให้มีรูหรือรอยฉีกขาดเกิดขึ้น
มิฉะนั้นแมลงจะเข้าไปวางไข่ได้

                        3. ใช้สารล่อเมทิลยูจินอลร่วมกับมาลาไทออน อัตราส่วน 3 : 1  โดยปริมาตรในกับดักสารล่อเพื่อใช้ล่อแมลงวันผลไม้
เพศผู้

                        4. การใช้เหยื่อพิษ    โดยการนำเอายีสต์โปรตีนออโตไลเสท หรือโปรตีนไฮโคร  ไลเสทมาเป็นเหยื่อล่อแมลงวันผลไม้
โดยใช้ยีสต์โปรตีนออโตไลเสทหรือโปรตีนไฮโดรไลเสท 800 ซีซี ผสมกับสารเคมีกำจัดแมลง จำนวน 280 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร โดยสามารถนำไปใช้ได้ 2 วิธี ดังนี้
                            - บรรจุลงภาชนะ แล้วนำไปแขวนตามที่ต่าง ๆ ที่สำคัญต้องแขวนให้สูงพ้นมือเด็ก
                            - ฉีดพ่นโดยใช้หัวฉีดขนาดใหญ่   ให้สารละลายเหยื่อพิษที่ฉีดออกมาเป็นหยดประมาณ  80 หยดต่อพื้นที่ 1 ตร.ม.
ส่วนผสมนี้สามารถนำไปพ่นแบบเป็นจุด 2 - 4 จุดต่อต้น อัตราที่ใช้ 150 - 350 ซีซี ต่อไม้ผล 1 ต้น ขึ้นอยู่กับขนาดของต้น จะสามารถดึงดูดได้ทั้งแมลงวันผลไม้ตัวผู้และตัวเมีย

 
เพลี้ยอ่อนสีเขียว
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                       เพลี้ยอ่อนชนิดนี้จะดูดกินนํ้าเลี้ยงจากใบและยอดอ่อนซึ่งมีผลทำให้ใบนั้นหยิกและงอ ต้นแคระแกรน ส่งให้การเจริญเติบ
โตหยุดชะงัก เพลี้ยอ่อนจะขับสารออกมาจากร่างกายเป็นนํ้าหวานซึ่งเป็นอาหารที่เหมาะในการเจริญเติบโตของราดำ
 
การควบคุมและป้องกัน
                      1. หมั่นตรวจติดตามสถานการณ์ ถ้าพบไม่มากนักให้ตัดส่วนที่สำรวจพบการระบาดและเผาทำลาย

                      2. พ่นด้วยสารอิมิดาโคลพริด10% เอสแอล อัตรา 8 มล.หรือ 5% อีซี อัตรา 16 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตรหรือปิโตรเลียมออยล์
83.9% อีซี อัตรา 60 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร ให้เปียกทั่วต้นทั้งภายนอกและภายในทรงพุ่ม
 
เพลี้ยไก่แจ้ส้ม
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                       ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน ตัวอ่อนจะกลั่นสารสีขาวมีลักษณะเป็นเส้นด้าย และอาจทำให้เกิดราดำตามมา   ใบที่ถูกทำลายจะเป็นคลื่นถ้าทำลายรุนแรงจะทำให้ใบร่วงติดผลน้อย  หรือไม่ติดผลเลย เพลี้ยไก่แจ้ส้มนอกจากจะทำความเสียหายยังเป็นพาหะถ่ายทอดโรคใบเหลืองต้นโทรมหรือกรีนนิ่ง ต้นจะทรุดโทรมและตายในที่สุด
 
การควบคุมและป้องกัน
                        1. หมั่นตรวจติดตามสถานการณ์ ถ้าพบไม่มากนักให้ตัดส่วนที่สำรวจพบการระบาดและเผาทำลาย

                        2. ฉีดพ่นด้วยสารารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นซ้ำห่างกัน 7 - 10 วัน  
 
เพลี้ยไฟส้ม
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                         เพลี้ยไฟจะเจาะเข้าไปในผิวใบและดูดกินนํ้าเลี้ยงของใบส้ม ผลที่ยังอ่อนเพลี้ยไฟจะเจาะตรงส่วนที่อยู่ใกล้กับกลีบดอก
เมื่อผลโตขึ้นก็จะเจาะบริเวณใกล้เคียงกับขั้วทำให้บริเวณที่ถูกเจาะนั้นมีรอยเป็นสะเก็ดสีเทา ส่วนใบที่ถูกทำลายนั้นก็จะแคระแกรน หงิกงอ
นอกจากเข้าทำลายที่บริเวณใบและผลแล้ว เพลี้ยไฟยังทำลายกิ่งอ่อน และดอกอีกด้วย
 
การควบคุมและป้องกัน
                        1. หมั่นตรวจติดตามสถานการณ์ ถ้าพบไม่มากนักให้ตัดส่วนที่แมลงระบาดไปเผาทิ้ง
     
                        2. สำรวจหากพบเพลี้ยไฟเกิน 4 ตัวต่อยอด 10 ต้น ต้นละ 5 ยอด ให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมี อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล
อัตรา 10 มล. สารเฟนโพรพาทริน 10% อีซี อัตรา 30 มล. สารอีไทออน 50% อีซี อัตรา 20 มล. หรือสารอะบาเม็กติน 1.8% อีซี อัตรา 10 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร ประมาณ 7 - 10 วัน ต่อครั้ง
 
ไรแดงส้้ม
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                         ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของไรแดงส้มชนิดนี้จะดูดกินนํ้าเลี้ยงจากใบ ผล    และกิ่งอ่อนของต้นส้มซึ่งจะทำให้บริเวณที่ถูก
ทำลายนั้น เห็นเป็นจุดสีอ่อน ๆ ซึ่งต่อมาจะค่อย ๆ  ขยายตัวออกไปทั่วจนมีสีเทาหรือสีตะกั่ว ในกรณีที่พบระบาดมาก ๆ จะทำให้ใบ และผล
ร่วงหล่นได้ และอาจจะทำให้ผลที่ถูกทำลายมีลักษณะแคระแกรนและคุณภาพเสื่อมลง มักระบาดมากในฤดูแล้ง
 
การควบคุมและป้องกัน
                         1. หมั่นสำรวจแปลงส้มอยู่เป็นประจำ  เมื่อพบไรแดงเริ่มลงทำลายส้ม  ให้ทำการป้องกันกำจัดโดยวิธีกล ด้วยการให้น้ำ
ติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง
                         
                         2. ฉีดพ่นด้วยกำมะถัน 80% ดับบลิวพี อัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรหรือพ่นสารอะมีทราซ 20% อีซี อัตรา 40 มล.
ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรพาร์ไกต์ 30% ดับลิวพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ควรหยุดพ่นสารก่อนการเก็บเกี่ยว 15 วัน   
 
โรคกรีนนิ่ง หรือโรคใบเหลืองต้นโทรม : เกิดจากเชื้อคล้ายแบคทีเรีย
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                         ใบเหลืองซีด เส้นใบสีเขียวหรือใบด่าง ใบเล็กเหลือง หรืออาการคล้ายกับขาดธาตุอาหาร มักเกิดกับกิ่งใดกิ่งหนึ่งก่อน ใบแก่หนาม้วนงอ และมีเส้นใบปูดแตกสีน้ำตาล ต้นทรุดโทรม ผลร่วงก่อนอายุการเก็บเกี่ยว ระบบรากอ่อนแอ และเน่า มีเพลี้ยไก่แจ้เป็นแมลงพาหะ
 
การควบคุมและป้องกัน
                         1. ถ้าเริ่มพบอาการโรคกรีนนิ่งให้ตัดกิ่งที่มีอาการทิ้งและเผา ทำลาย

                         2. ถ้าพบอาการมากกว่าร้อยละ 50 ของทรงพุ่ม ให้ขุดต้นทิ้งและเผาทำลาย

                         3. ควบคุมเพลี้ยไก่แจ้ส้ม   โดยพ่นสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร หยุดพ่นสารก่อนการ
เก็บเกี่ยว 14 วัน

 

ข้อมูลจาก : http://www.eto.ku.ac.th/neweto/e-book/plant/tree_fruit/guava.pdf
                http://www.oard1.org/pdf/GAP and Organic/ส้มโอ/pameloquality.pdf
                ระบบการจัดการคุณภาพ : Gap พืช.ส้มโอ.2550. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
                http://www.oknation.net/blog/horti-asia/2013/01/16/entry-5
                คู่มือปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรเรื่อง องค์ความรู้เพิ่มประสิทธิภาพสู่การเป็น
                         smart office : ไม้ผล.2556. กรมส่งเสริมการเกษตร

 
 
Copyright © 2014 กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร.02 - 955 - 1626, 02 - 955 - 1514