ผีเสื้อมวนหวาน (Fruit Piercing Moths)
 
เผยแพร่ : วันที่ 18 เมษายน 2559
 
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Othreis fullonia Clerck
วงศ์ : Noctuidae
อันดับ : Lepidoptera
ชื่อสามัญอื่น :
   
รูปร่างลักษณะ
                        ตัวเต็มวัยผีเสื้อมวนหวานเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่ ปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาลปนเทา ปีกคู่หลังมีสีเหลืองส้ม ขอบปีกด้านนอกสีดำ และกางปีกมีแถบสีดำคล้ายรูปพระจันทร์เสี้ยวข้างละ 1 อัน เมื่อกางปีกทั้งสองข้างมีขนาดประมาณ 8.5 - 9.0 ซม.ตัวเต็มวัยวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ บนใบพืชได้ครั้งละประมาณ 100 ฟอง ไข่ทรงกลมสีเหลืองเขียว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.0 มล. ระยะไข่ 3 - 4 วัน ที่อุณหภูมิ 28 - 30 องศาเซลเซียส หรือสภาพอบอุ่น จากนั้นจึงฟักเป็นตัวหนอน ตัวเมียตลอดชีวิตวางไข่ ได้ 750 ฟอง ตัวหนอนมีสีเขียวใสยาวประมาณ 0.5 ซม. หนอนมี 7 ระยะ เมื่อหนอนโตเต็มที่จะมีสีน้ำตาลปนดำ ด้านข้างของท้องปล้องที่ 2 และ 3 จะมีลายวงกลมสีขาวและส้ม นอกจากนี้ ยังมีจุดขาวแดงอมส้ม และฟ้าซึ่งเป็นจุดเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วตัว ระยะหนอน 12 - 21 วัน หนอนจะนำใบพืชมาห่อหุ้มตัวแล้วเข้าดักแด้อยู่ภายใน ระยะดักแด้ 10 - 12 วัน ตั้งแต่วางไข่จนถึงตัวเต็มวัยวางไข่ได้ ประมาณ 30 - 33 วัน
 
ลักษณะการทำลาย
                       ทำลายผลไม้โดยใช้งวงปากที่แข็งยาวประมาณ 2.5 ซม. แทงเจาะทะลุผิวเปลือก และดูดกินน้ำหวานในผลไม้สุกเป็นอาหาร ผลที่ถูกผีเสื้อเจาะทำลายมักมีรอย เช่นผลลองกอง เป็นวงสีน้ำตาล มีน้ำเยิ้มออกมาจากรอยเจาะ ต่อมาผลเน่าและร่วงลงดิน
 
 
 
กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำวิธีป้องกันกำจัด ดังนี้

                       1. ใช้กับดักแสงไฟจากหลอดแบล็คไลท์ (Black Light ) ในช่วงเวลาที่เหมาะสม 20.00 - 22.00 น.เป็นช่วงที่ตัวเต็ม
วัยออกหากินมากที่สุด ควรวางกับดักสูงจากพื้น 1.2 เมตร ใต้หลอดไฟวางถาดน้ำมันหรือถาดบรรจุน้ำผงซักฟอก ให้ตัวแก่บินเล่นไฟตก
ลงมาจมน้ำตาย
                       2. ใช้เหยื่อพิษ โดยเหยื่อล่อเป็นสับปะรดสุก ขนาดชิ้นหนา 1 นิ้ว ชุบสารเคมี คาร์บาริล 85 % WP อัตรา 5 กรัม ผสมน้ำ 1 ลิตร แขวนเป็นจุดๆ ในสวน จำนวน 1 กับดัก ต่อ ต้นไม้ผล 5 ต้น
           3. จับเก็บตัวเต็มวัยในเวลากลางคืน โดยใช้ไฟฉายส่องตามผล ช่อผล เริ่มในช่วงเวลา ๒๐.๐๐ - ๒๒.๐๐ น.จะพบตัวเต็มวัยเจาะดูดกินน้ำหวานจากผล ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แมลงไม่ทันระวังตัว สามารถจับได้ด้วยมือ  และนำเก็บใส่ลงในขวดพลาสติกปิดฝานำไปทำลาย
           4. วิธีการป้องกันผีเสื้อมวนหวานที่ดีที่สุด คือ การห่อผลด้วยกระดาษถุงปูน หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ โดยการห่อเป็นรูปกรวยสามเหลี่ยม และเปิดที่ปลายโคนเพื่อเป็นช่องให้อากาศผ่านกันการเกิดผลเน่า
           5. ใช้กรงกับดักดักจับตัวเต็มวัย กรงกับดักเป็นกรงมุ้งตาข่าย ด้านล่างเป็นกรวยปลายเปิดเล็กเข้าไปด้านใน มีแท่นวางเหยื่อล่อด้านล่าง ใช้จับตัวเต็มวัยผีเสื้อมวนหวาน จะแขวนบนต้นสูงระดับเดียวกับผลไม้หรือวางบนขาตั้งสูงจากพื้น ๒๐ เซนติเมตร เหยื่อล่อเป็นสับปะรดสุก หรือกล้วยน้ำหว้าสุกงอม ต้องมีฝาปิดโดยปิดไว้หลวมๆ ให้ผีเสื้อมวนหวานดันเข้าไปในกรงกับดัก แต่แทรกดันออกไม่ได้
           6. การใช้แมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียนไข่ทริโคแกรมมา มวนพิฆาติ และมวนเพชฌฆาต เพื่อกำจัดไข่และตัวหนอนผีเสื้อหวาน

 

้อมูล : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช

 
Copyright © 2014 กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร.02 - 955 - 1626, 02 - 955 - 1514