บทคัดย่องานวิจัย สื่อสิ่งพิมพ์
 
บทความวิชาการ
 
 
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออ้อยเพื่อผลิตอ้อยปลอดโรค
 
โดย...กลุ่มส่งเสริมพันธุ์พืชปลอดโรค
วันที่เผยแพร่บทความ :: 22 มีนาคม 2560
 

                  การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่มีประสิทธิภาพ โดยการนำชิ้นส่วนของพืชที่มีชีวิต เช่น ตายอด ตาข้าง ใบ ก้านใบ อับละอองเกสร ลำต้น ฯลฯ มาเพาะเลี้ยงในสูตรอาหารสังเคราะห์ที่มีสารอาหารและวิตามินต่างๆ ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด ซึ่งข้อดีของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชที่โดดเด่น คือ สามารถผลิตขยายต้นพืชได้ในปริมาณมาก พืชที่ได้จะมีพันธุกรรมเหมือนต้นแม่พันธุ์  ทุกประการ เพราะฉะนั้นหากต้องการได้ต้นพันธุ์ดี ตรงตามพันธุ์ มีคุณภาพ ให้ผลผลิตสูง การคัดเลือกพันธุ์จึงเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่งในการผลิตพืชโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และที่สำคัญยังสามารถผลิตพืชปลอดโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส ไฟโตพลาสมา เชื้อรา แบคทีเรีย ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อดีในด้านการค้า เนื่องจากสามารถ    ได้ต้นที่สม่ำเสมอ ซึ่งการผลิตพืชเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรม จะเป็นประโยชน์มากในการวางแผนการผลิตให้สามารถเก็บผลผลิตได้พร้อมกัน ซึ่งพืชเศรษฐกิจสำคัญที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการผลิตเพื่อส่งเสริมเกษตรและเห็นผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ กล้วย หน่อไม้ฝรั่ง และอ้อย เป็นต้น

 

                 อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ในปี 2557/2558 มีพื้นที่ปลูกเกือบ 11 ล้านไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 102 ล้านตัน ในปี 2558 มีการส่งออกน้ำตาลทรายประมาณ 7 ล้านตัน เป็นอันดับสองรองจากประเทศบราซิล อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจึงมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่การปลูกอ้อย ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายปรับเปลี่ยนพื้นที่ ทำให้เกษตรกรมีความต้องการพันธุ์อ้อยเพิ่มมากขึ้น

 
                  การปลูกอ้อยโดยทั่วไปนิยมการปลูกแบบวางลำ ทำให้ง่ายต่อการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูอ้อยที่ติดไปกับท่อนพันธุ์  ได้แก่  โรคใบขาวอ้อย โรคกอตะไคร้ โรคราน้ำค้าง โรคใบลวก โรคเน่าแดง โรคแส้ดำ โรคเหี่ยวของอ้อย หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอสีชมพู หนอนกอสีขาว หนอนกอลายจุดใหญ่ เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้งสีชมพู ปลวกและไรแมงมุม ซึ่งโรคที่สร้างความเสียหายมากที่สุดทำให้ผลผลิตลดลง 30-40 เปอร์เซ็นต์ คือ โรคใบขาวอ้อย เนื่องจากเป็นเชื้อที่แฝงอยู่ในท่อลำเลียงอาหาร ทำให้ไม่สามารถกำจัดเชื้อด้วยความสารเคมีได้ ดังนั้น การนำเทคโนโลยีด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาผลิตขยายอ้อย จะช่วยให้ได้ต้นพันธุ์ที่ปลอดโรค เนื่องจากขั้นตอนการผลิต มีการกำจัดเชื้อด้วยความร้อน สารเคมี และตัดเอาเฉพาะส่วนของเนื้อเยื่อเจริญปลายยอดขนาด 0.2 มม. ใต้กล้องสเตอริโอ ซึ่งเป็นส่วนที่ปลอดโรคมากที่สุดมาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ แล้วนำไปตรวจหาเชื้อสาเหตุโรคพืชด้วยวิธีทางชีวโมเลกุล (nested PCR) ก่อนนำไปขยายเพิ่มปริมาณให้ได้ตามจำนวนที่ต้องการ จากนั้นนำต้นอ้อยจาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไปปลูกลงแปลง
 
   
   
   
             
               ก. และ ข. คัดอ้อยจากแปลงแม่พันธุ์ ที่เจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรงไม่แสดงอาการโรคใบขาว นำมาตัดส่วนของโคนออกความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร
               ค. กำจัดเชื้อด้วยการแช่น้ำร้อน 2 ครั้ง
               ง. เตรียมต้นพันธุ์ด้วยการชำข้อตาอ้อย
               จ. ฟอกฆ่าเชื้อที่พื้นผิว ด้วย แอลกอฮอล์ และโซเดียมไฮเปอร์คลอไรด์
               ฉ. ตัดเอาส่วนเนื้อเยื่อเจริญปลายยอด ขนาด 0.2 มิลลิเมตร มาเพาะเลี้ยง
               ช. ชักนำให้เกิดยอดในอาหารสูตร MS + GA ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 - 4 เดือน
               ซ. และ ฌ. ตรวจสอบหาเชื้อโรคใบขาวอ้อยด้วยวิธีทางชีวโมเลกุล
               ญ. นำมาขยายเพิ่มปริมาณในอาหารสูตร MS + BA + น้ำตาล ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
               ฎ. ชักนำให้เกิดรากในอาหารสูตร MS + NAA + น้ำตาล ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 45 วัน
               ฏ. ย้ายปลูกในสภาพโรงเรือนอนุบาล
               ฐ. ปลูกลงแปลงเพื่อจัดทำแปลงพันธุ์หลักอายุ 45 วัน
              ฑ. แปลงพันธุ์หลัก อายุ 6 เดือน   
              ฒ. แปลงพันธุ์หลักพร้อมเก็บเกี่ยว
 
                 การนำเทคโนโลยีด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาใช้ในการผลิตขยายต้นพันธุ์อ้อยเป็นวิธีการที่สามารถผลิตขยายต้นพันธุ์อ้อยให้ปลอดจากโรคที่ติดมากับท่อนพันธุ์มากที่สุด โดยเฉพาะโรคใบขาวซึ่งเป็นเชื้อที่เจริญอยู่ในท่อลำเลียงอาหารของต้นอ้อย    จึงไม่สามารถกำจัดเชื้อด้วยสารเคมีโดยทั่วไปได้
 
                     การผลิตขยายพืชโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชมีขั้นตอนการผลิต เริ่มจากกำจัดเชื้อด้วยความร้อน  สารเคมี และตัดเอาเฉพาะส่วนของเนื้อเยื่อเจริญปลายยอดขนาด 0.2 มม. เป็นส่วนที่ปลอดโรคมากที่สุด เนื่องจากเป็นส่วนที่ยังไม่เจริญเป็นอวัยวะต่างๆ ของพืชมาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ จากนั้นนำต้นอ้อยที่เพาะเลี้ยงได้ไปตรวจหาเชื้อความปลอดโรคด้วยวิธีทางชีวโมเลกุล (nested PCR) ก่อนนำไปขยายเพิ่มปริมาณให้ได้ตามจำนวนที่ต้องการ แล้วนำไปปลูกในสภาพแปลงที่มีการปฏิบัติดูแลตามหลักวิชาการ พร้อมทั้งมีการสำรวจประเมินแปลงพันธุ์ตามหลักมาตรฐานแปลงพันธุ์ ตลอดฤดูการเกี่ยว ประกอบด้วยแปลงพันธุ์หลัก แปลงพันธุ์ขยาย 1 และแปลงโรงงาน สำหรับแปลงพันธุ์หลักมีการสุ่มหน่ออ่อน  ไปตรวจความปลอดโรคด้วยวิธีทางชีวโมเลกุล (nested PCR) อีกครั้ง เพื่อรับรองว่าเป็นแปลงพันธุ์อ้อยสะอาดสะอาด ก่อนขยายผลสู่เกษตร ในแปลงขยาย 1 และแปลงโรงงานต่อไป   
 
 
กลับขึ้นด้านบน
 
 
 
Copyright © 2016 คณะทำงานวิชาการ กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร.02 - 940 - 6190 - 1