บทคัดย่องานวิจัย สื่อสิ่งพิมพ์
 
บทความวิชาการ
 
 
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วย
 
โดย...กลุ่มส่งเสริมพันธุ์พืชปลอดโรค
วันที่เผยแพร่บทความ :: 22 มีนาคม 2560
 

                  การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่มีประสิทธิภาพ โดยการนำชิ้นส่วนของพืชที่มีชีวิต เช่น ตายอด ตาข้าง ใบ ก้านใบ อับละอองเกสร ลำต้น ฯลฯ มาเพาะเลี้ยงในสูตรอาหารสังเคราะห์ที่มีสารอาหารและวิตามินต่างๆ ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด ซึ่งข้อดีของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชที่โดดเด่น คือ สามารถผลิตขยายต้นพืชได้ในปริมาณมาก พืชที่ได้จะมีพันธุกรรมเหมือนต้นแม่พันธุ์  ทุกประการ เพราะฉะนั้นหากต้องการได้ต้นพันธุ์ดี ตรงตามพันธุ์ มีคุณภาพ ให้ผลผลิตสูง การคัดเลือกพันธุ์จึงเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่งในการผลิตพืชโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และที่สำคัญยังสามารถผลิตพืชปลอดโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส ไฟโตพลาสมา เชื้อรา แบคทีเรีย ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อดีในด้านการค้า เนื่องจากสามารถได้ต้นที่สม่ำเสมอ ซึ่งการผลิตพืชเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรม จะเป็นประโยชน์มากในการวางแผนการผลิตให้สามารถเก็บผลผลิตได้พร้อมกัน ซึ่งพืชเศรษฐกิจสำคัญที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการผลิตเพื่อส่งเสริมเกษตรและเห็นผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ กล้วย หน่อไม้ฝรั่ง และอ้อย เป็นต้น

 

                  กล้วยเป็นผลไม้คู่กับวิถีชีวิตไทยมาช้านานนอกจากเป็นผลไม้ที่รับประทานกันเป็นประจำแล้ว ส่วนอื่น ๆ ของต้นทั้งใบ ก้านใบ ช่อดอก และลำต้น ก็ยังนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย ปัจจุบันความต้องผลผลิตกล้วยยิ่งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการส่งออกกล้วยหอมและกล้วยไข่ ไปจำหน่ายต่างประเทศ ปีละกว่า 35,000 ตัน ทำรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 350 ล้านบาท โดยกล้วยหอมมีตลาดสำคัญคือ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ส่วนกล้วยไข่มีตลาดสำคัญคือ จีน ฮ่องกง และเวียดนาม ในปี 2557 มีพื้นที่ให้ผลผลิตเฉพาะกล้วยเศรษฐกิจ คือ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม และกล้วยไข่รวมแล้วประมาณหนึ่งล้านไร่

 
                  โดยปกติเกษตรกรจะปลูกกล้วยโดยใช้หน่อ แต่เป็นวิธีการที่ต้องใช้เวลานานในการขยายพันธุ์ ได้หน่อน้อย ต้องใช้ต้นแม่พันธุ์จำนวนมาก ต้นที่ปลูกเติบโตไม่สม่ำเสมอ และไม่สามารถเก็บผลผลิตได้พร้อมกัน ในปัจจุบันความต้องการผลผลิตกล้วยมีมากขึ้น ทั้งตลาดภายในประเทศ และตลาดส่งออก โดยเฉพาะตลาดส่งออก ต้องผลิตให้ได้ปริมาณสม่ำเสมอตามที่ผู้ซื้อต้องการ จึงต้องใช้ต้นพันธุ์ที่เจริญเติบโตสม่ำเสมอ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ได้ปริมาณมากๆ ในเวลาเดียวกัน จึงจำเป็นต้องใช้ต้นพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อซึ่งมีการเติบโตสม่ำเสมอ และเก็บผลผลิตได้พร้อมกัน ต้นพันธุ์กล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อยังเป็นต้นพันธุ์ที่สะอาด ปราศจากโรคและแมลงเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันที่สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้โรคและแมลงศัตรูพืชระบาดรุนแรงขึ้น นอกจากนั้นต้นพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ยังเป็นต้นพันธุ์ที่มีลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกประการอีกด้วย
 
   
   
   
             
                ก. คัดเลือกหน่อใบแคบจากต้นแม่พันธุ์ที่มีลักษณะดี ตรงตามพันธุ์ ต้นสมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคและแมลง เป็นหน่อใบแคบ อายุ 3 - 4 เดือน
                ข. ค. และ ง. ตัดแต่งหน่อกล้วยลอกกาบด้านนอกออกตัดแต่งจนเหลือขนาดเล็กปาดส่วนโคนให้เหลือส่วนของจุดเจริญ
                จ. ฉ. และ ช. เตรียมน้ำยาฟอกสำหรับฟอก โดยฟอกฆ่าเชื้อในสารละลายคลอรอกซ์ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ใช้ สารละลายคลอรอกซ์ 30 %นาน 30 นาที และครั้งที่ 2 ใช้สารละลายคลอรอกซ์ 15 %นาน 30 นาที จากนั้นให้ล้างด้วยน้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว 3 ครั้ง ครั้งละ 3 - 5 นาที เพื่อล้างสารเคมีออกให้หมด
                ซ. นำมาตัดแต่งชิ้นพืชให้มีขนาดเล็กประมาณ 3 - 5  มิลลิเมตร ในตู้ปลอดเชื้อ
              ฌ. นำไปเลี้ยงในห้องบ่มสภาพห้องที่ควบคุมที่อุณหภูมิ 25 + 2 °C ความเข้มแสง 3,000 ลักซ์ ให้แสง 16 ชั่วโมงต่อวัน เปลี่ยนอาหารใหม่ทุก 1 เดือน เตรียมแม่พันธุ์เริ่มต้น โดยชักนำยอดเลี้ยงในสูตรอาหาร MS + BA อัตรา 5 มิลลิกรัม/ลิตร (อัตราขยาย 1 เท่า/ชิ้น/เดือน)
                ญ. นำยอดอ่อนมาชักนำยอดเพิ่มปริมาณ โดยตัดปลายส่วนยอดทิ้งลอกกาบแล้วผ่าครึ่งเป็น 2 ซีก เปลี่ยนอาหารใหม่ (อัตราขยาย 2 เท่า/ชิ้น/เดือน)
                ฎ. นำยอดมาตัดขยายเพิ่มปริมาณ โดยตัดแบ่งเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ทุก 1 เดือน (อัตราขยาย 3 เท่า/ชิ้น/เดือน)
                ฏ. ชักนำให้เกิดราก โดยตัดแต่งยอดเลี้ยงในอาหาร MS ที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโต NAA อัตรา 0.1 มิลลิกรัมต่อลิตร
                ฐ. ฑ. และ ฒ. นำต้นอ่อนที่ชักนำให้เกิดรากพัฒนาเป็นต้นอ่อนที่สมบูรณ์ล้างวุ้นออก และแช่ยาป้องกันเชื้อรา และนำออกปลูกในโรงเรือนที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม
 
 
กลับขึ้นด้านบน
 
 
 
Copyright © 2016 คณะทำงานวิชาการ กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร.02 - 940 - 6190 - 1