บทคัดย่องานวิจัย สื่อสิ่งพิมพ์
 
บทความวิชาการ
 
 
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหน่อไม้ฝรั่ง
 
โดย...กลุ่มส่งเสริมพันธุ์พืชปลอดโรค
วันที่เผยแพร่บทความ :: 22 มีนาคม 2560
 

                  การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่มีประสิทธิภาพ โดยการนำชิ้นส่วนของพืชที่มีชีวิต เช่น ตายอด ตาข้าง ใบ ก้านใบ อับละอองเกสร ลำต้น ฯลฯ มาเพาะเลี้ยงในสูตรอาหารสังเคราะห์ที่มีสารอาหารและวิตามินต่างๆ ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด ซึ่งข้อดีของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชที่โดดเด่น คือ สามารถผลิตขยายต้นพืชได้ในปริมาณมาก พืชที่ได้จะมีพันธุกรรมเหมือนต้นแม่พันธุ์  ทุกประการ เพราะฉะนั้นหากต้องการได้ต้นพันธุ์ดี ตรงตามพันธุ์ มีคุณภาพ ให้ผลผลิตสูง การคัดเลือกพันธุ์จึงเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่งในการผลิตพืชโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และที่สำคัญยังสามารถผลิตพืชปลอดโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส     ไฟโตพลาสมา เชื้อรา แบคทีเรีย ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อดีในด้านการค้า เนื่องจากสามารถ    ได้ต้นที่สม่ำเสมอ ซึ่งการผลิตพืชเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรม จะเป็นประโยชน์มากในการ           วางแผนการผลิตให้สามารถเก็บผลผลิตได้พร้อมกัน ซึ่งพืชเศรษฐกิจสำคัญที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการผลิตเพื่อส่งเสริมเกษตรและเห็นผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ กล้วย หน่อไม้ฝรั่ง และอ้อย เป็นต้น

 

                 หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชผักส่งออกที่สำคัญ ผลผลิตร้อยละ 20 ส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ  ทำรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 200 ล้านบาท มีผู้รับซื้อสำคัญ คือ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และประเทศตะวันออกกลาง มีผู้ส่งออกรายใหญ่ ได้แก่ บริษัทธานียาม่าสยาม จำกัด บริษัทสวิฟท์ จำกัด และบริษัทกำแพงแสน คอมเมอร์เชี่ยล จำกัด เนื่องจากเป็นพืชส่งออก คุณภาพผลผลิตเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดรายได้ของเกษตรกร เพราะบริษัทผู้ส่งออกกำหนดราคารับซื้อตามเกรดของผลผลิต โดยผลผลิตเกรดเอ   จะมีราคาสูงถึง 100-120 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ขณะที่ผลิตเกรดบีราคา 70 บาทต่อ กก. เกรดซี 40 บาทต่อ กก. และเกรดแซด หรือตกเกรด ราคา 15 บาทต่อ กก.

 
                    หน่อไม้ฝรั่งสามารถปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์หรือใช้ต้นพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่พืชทุกต้นที่ผลิตได้จะมีพันธุกรรมเหมือนกับต้นแม่พันธุ์ดีที่คัด
เลือกมาผลิต และเมื่อนำไปปลูกในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นหน่อไม้ฝรั่ง จะทำให้ผลผลิตที่เก็บได้ในแต่ละวันหรือช่วงแต่ละช่วงเวลามีใกล้เคียงกัน     ซึ่งทำให้เกษตรกรบรรลุเป้าหมายที่สำคัญคือ ได้หน่อไม้ฝรั่งคุณภาพดีจำนวนมากอยู่เสมอ เกษตรกรที่ทำให้การปลูกหน่อไม้ฝรั่งจากต้นเนื้อเยื่อเป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างกว้างขวาง คือ นายโสภณ อารยธรรม ชาวดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรีโดยนายโสภณได้รับต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของกรมส่งเสริมการเกษตรไปทดลองปลูก เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2542 จำนวนประมาณ 5,000 ต้น นายโสภณยืนยันว่า ต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้ผลผลิตสูงได้คุณภาพดีกว่าต้นพันธุ์จากการเพาะเมล็ด นายอนันทพงษ์ สาลีดำ เกษตรกรผู้ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ใช้ต้นพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และยืนยันว่าให้ผลผลิตและคุณภาพดีกว่าการปลูกด้วยต้นจากการเพาะเมล็ด
 
   
   
         
             
                ก. คัดเลือกหน่อที่มีลักษณะดีตรงตามพันธุ์ และให้ผลผลิตสูง
                ข. นำหน่อมาตัดเป็นท่อน ล้างในแอลกอฮอล์ 70 % 3 ครั้งๆ ละ 1 - 2 นาที ฟอกฆ่าเชื้อ 2 ครั้ง ในสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรด์ ความเข้มข้น 15 % และ10 % นาน 20 นาที
               ค. ตัดแต่งแยกชิ้นส่วนตายอด และตาข้าง ภายในตู้ปลอดเชื้อ
               ง. ตัดแต่งตาจากหน่อ 1 ชิ้น/1 ตา
               จ. เพาะเลี้ยงบนอาหารแข็งสูตร MS + KIN 0.1 mg/l  NAA 0.05 mg/l  และน้ำตาล 30 mg/l เพื่อชักนำยอด
               ฉ. ตาเจริญเป็นต้นหน่อไม้ฝรั่ง
               ช. เพิ่มปริมาณในอาหารสูตร MS + KIN 0.01 mg/l และ NAA 0.05  mg/l และน้ำตาล 30 mg/l
               ซ. และ ฌ. นำมาต้นที่ได้มาตัดแต่ง และแบ่งกอ เพื่อชักนำรากและพัฒนาเป็นต้นอ่อนที่สมบูรณ์ในสูตรอาหาร MS + NAA 0.35 mg/l และน้ำตาล 60 g/l 
               ญ. และ ฎ. นำมาล้างอาหารวุ้นออก แล้วอนุบาลในโรงเรือนที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต
               ฏ. ปลูกและอนุบาลต้นหน่อไม้ฝรั่งที่อนุบาลในโรงเรือนที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต
 
กลับขึ้นด้านบน
 
 
 
Copyright © 2016 คณะทำงานวิชาการ กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร.02 - 940 - 6190 - 1