บทคัดย่องานวิจัย สื่อสิ่งพิมพ์
 
บทความวิชาการ
 
 
เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
 
โดย...กลุ่มส่งเสริมพันธุ์พืชปลอดโรค
วันที่เผยแพร่บทความ :: 23 มีนาคม 2560
 

                การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นวิธีขยายพันธุ์พืชแบบไม่ใช้เพศวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถผลิตพืชได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ต้นพืชมีความสม่ำเสมอ สมบูรณ์แข็งแรง ตรงตามพันธุ์ และสะอาดปราศจากโรคแมลงศัตรูพืช  ปัจจุบันมีการนำมาใช้เพื่อขยายพันธุ์พืชในเชิงการค้าอย่างกว้างขวางและส่งเสริมเป็นอาชีพ เริ่มจากนำมาใช้กับกล้วยไม้จนกลายเป็นพืชอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ต่อมาจึงได้มีการนำมาใช้ขยายพันธุ์พืชอื่นๆ ในเชิงการค้า เช่น กล้วย หน่อไม้ฝรั่ง สับปะรด ไผ่ เยอรบีร่า หน้าวัว เบญจมาศ บอนสี ปทุมมา กระเจียว กุหลาบสตรอเบอรี่ ขนุน และไม้สัก เป็นต้น รวมถึงได้นำมาใช้เพื่อการผลิตขยายพันธุ์ปลอดโรคซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อไวรัส ไฟโตพลาสม่า และเชื้อแบคทีเรีย ที่มักติดมากับหัวพันธุ์/ท่อนพันธุ์ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

 

                 ถึงแม้จะมีการนำเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชมาใช้ประโยชน์เพื่อการผลิตขยายพันธุ์พืชในเชิงการค้าและอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เช่น ต้นทุนการผลิตสูง บุคลากรมีจำกัด ผู้ใช้ต้องใช้ความรู้และทักษะเฉพาะด้าน การปฏิบัติค่อนข้างยุ่งยากและเป็นวิทยาศาสตร์มากเกินไป รวมถึงช่องทางเข้าถึงเทคโนโลยียังมีไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้นำร่องขยายผลเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยการส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกร และผู้สนใจได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีฯ โดยตรง ด้วยการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการผลิตขยายพืชพันธุ์ดีซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญยิ่งต่อธุรกิจเกษตร เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ การนำเทคโนโลยีฯ ไปใช้ให้เกิดผลสำเร็จในเชิงอุตสาหกรรมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีธุรกิจต่อเนื่องรองรับครบวงจร และเพื่อให้เห็นถึงประโยชน์ของการนำข้อดีของงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงได้นำตัวอย่างผู้ประสบความสำเร็จจากการประกอบธุรกิจเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เป็นผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้ทำงานกับผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้ประกอบการโรงเรือนอนุบาลพืช เกษตรกรผู้ปลูกที่ใช้ต้นพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และผู้ทำธุรกิจการตลาดสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม เป็นต้น

 

                  การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

                 เป็นการขยายพันธุ์พืชแบบไม่ใช้เพศวิธีหนึ่ง ทำโดยการนำชิ้นส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ตาข้าง ตายอด หน่ออ่อน ใบ เมล็ด มาเพาะเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ประกอบด้วยเกลือแร่ น้ำตาล วิตามิน และสารควบคุมการเจริญเติบโต ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ปลอดจากเชื้อจุลินทรีย์ให้พัฒนาเป็นต้นพืชที่สมบูรณ์ เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่มีประสิทธิภาพ สามารถผลิตพืชได้จำนวนมากในเวลาที่กำหนด ต้นพืชสมบูรณ์แข็งแรง ปลอดโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส และเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียที่อาจติดมากับต้นพันธุ์ ตลอดจนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และการปรับปรุงพันธุ์พืชพืชที่นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ ได้แก่ ไม้ยืนต้น เช่น ยูคาลิปตัส ไผ่ สัก เป็นต้น  พืชผัก เช่น ขิง หน่อไม้ฝรั่ง และปูเล่ เป็นต้น ไม้ผล เช่น กล้วย สับปะรด สตรอเบอรี่ และส้ม เป็นต้น ไม้ดอกไม้ประดับ เช่น หน้าวัว เบญจมาศ กล้วยไม้ ว่านสี่ทิศ เยอบีร่า เฮลิโคเนีย และฟิโลเดนดรอน เป็นต้น พืชกินแมลง เช่น หยาดน้ำค้าง กาบหอยแครง  และหม้อข้าวหม้อแกงลิง เป็นต้น
 
   

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช
      การนำเนื้อเยื่อพืชหรือส่วนต่างๆของพืชที่มีชีวิตอยู่ เช่น ลำต้น ยอด ตาข้าง ก้านช่อดอก ใบ ก้านใบ อับละอองเกสรเรณู มาเพาะเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่ควบคุม

   

                  ข้อดีของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

                  1. เพิ่มปริมาณได้จำนวนมากในระยะเวลาสั้น ต้นที่ได้มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนต้นแม่พันธุ์ ขยายพันธุ์พืชจำนวนมากในเวลาที่กำหนด
                  2. ได้ต้นพืชที่สม่ำเสมอเหมือนต้นเดิม ต้นที่ได้จะสะอาดปราศจากศัตรูพืชโดยเฉพาะโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส ไฟโตพลาสม่าและแบคทีเรีย
                  3. ต้นพืชที่ได้ความสม่ำเสมอ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้พร้อมกัน เหมาะกับการผลิตพืชเชิงการค้า
                  4. เพื่อผลิตพันธุ์พืชปลอดโรคได้ต้นพืชปลอดเชื้อไวรัส และปลอดเชื้อแบคทีเรีย
                  5. เพื่ออนุรักษ์และเก็บรักษาพันธุ์พืชปรับปรุงพันธุ์พืช และเป็นการสร้างพันธุ์พืชใหม่ๆเพื่อการผลิตยา     หรือผลิตสารทุตยภูมิสกัดด้วยหรือส่วนผสมของยารักษาโรคจากพืช
และเพื่อศึกษาทางชีวเคมี สรีรวิทยา และพันธุศาสตร์
       
  ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช
     
   
     
  วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช
1. คัดเลือกชิ้นส่วนพืช ส่วนของพืชแทบทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของลำต้น ตา ดอก ราก แม้กระทั่งเนื้อเยื่อเซลล์ หรือ  โปรโตพลาสสามารถนำมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและพัฒนาให้เกิดเป็นต้นพืชได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ชนิดพืช และวัตถุประสงค์ที่ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
2. การทำความสะอาด ชิ้นส่วนที่นำมาทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อควรเป็นชิ้นส่วนที่สะอาด ปราศจากเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ดังนั้นจึงต้องนำมาฆ่าเชื้อด้วยวิธีการฟอกฆ่าเชื้อ แล้วล้างด้วยน้ำนึ่งที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
3. การตัดเนื้อเยื่อ ชิ้นส่วนพืชที่ทำการฆ่าเชื้อแล้ว นำเข้าตู้ปลอดเชื้อ ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ วางลงบนอาหารสังเคราะห์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
4. การบ่มเลี้ยงเนื้อเยื่อ  นำขวดอาหารที่มีชิ้นส่วนพืชวางบนชั้นที่มีแสงสว่าง 2,000 - 4,000 ลักซ์ วันละ 12 - 16 ชั่วโมง ในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิ 25 - 28 O C จนกระทั่งชิ้นส่วนของพืชมีการพัฒนาเป็นต้นที่สมบูรณ์
5. การตัดแบ่งและเลี้ยงอาหาร ตัดแบ่งชิ้นส่วนพืช และเปลี่ยนอาหารเพื่อเพิ่มปริมาณของต้นพืช ทุก 1 - 2 เดือน ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช และระยะการเจริญเติบโตทำการเปลี่ยนอาหารจนกระทั่งพืชเจริญเติบโตเป็นต้นที่สมบูรณ์

6. การย้ายปลูกในสภาพธรรมชาติ นำต้นพืชที่มียอด และรากที่สมบูรณ์ออกจากขวด ล้างวุ้นที่ติดกับรากออกให้หมดด้วยน้ำสะอาด และผึ่งลมให้แห้ง แช่น้ำยาป้องกันกำจัดเชื้อรา นำไปปลูกในวัสดุที่โปร่ง สะอาด ระบายน้ำได้ดีภายใต้นำไปวางไว้ในที่ร่ม และพรางแสง 60 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 4 สัปดาห์ หรือจนกระทั่งต้นพืชตั้งตัวได้

   
 
 
 
กลับขึ้นด้านบน
 
 
 
Copyright © 2016 คณะทำงานวิชาการ กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร.02 - 940 - 6190 - 1