กอป. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การระบาดไรสี่ขามะพร้าว ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

Shortcodes Ultimate

จำนวนผู้เข้าชม : 41

เมื่อวันที่ 7 – 8 ธันวาคม 2563 นางพัชรมณฑ์ ศิริเลิศวิมล ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การระบาดของไรสี่ขามะพร้าวในพื้นที่อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา พบการระบาดของไรสี่ขามะพร้าวอย่างรุนแรง โดยไรสี่ขามะพร้าวเป็นศัตรูพืชที่มีขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า มีวงจรชีวิตสั้น อายุตั้งแต่ระยะไข่จนถึงตัวเต็มวัย ประมาณ 7-8 วัน โดยไรสี่ขาจะอาศัยใต้กลีบเลี้ยงขั้วผลมะพร้าวและทำลายมะพร้าวตั้งแต่ผลยังเล็ก ทำให้ผลเกิดเป็นร่องลึกคล้ายลายไม้เมื่อขนาดของผลใหญ่ขึ้น ปลายแผลแหลม และเกิดแผลโดยรอบทั้งผล ทำให้ผลมะพร้าวมีรูปร่างผิดปกติ ผลมีขนาดเล็ก ลีบ และล่วงหล่นจากทลาย หรือผลไม่ได้ขนาดตรงตามความต้องการของตลาด ทั้งนี้ ยังได้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างการรับรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว ได้แก่ ไร่สี่ขามะพร้าว ด้วงแรด ด้วงงวง และหนอนทำลายจั่นมะพร้าว ให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในทุกอำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา รวม 30 ราย และเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในพื้นที่อำเภอคลองเขื่อน จำนวน 50 ราย ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทรา และมีวิทยากรจากสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้
การจัดการไรสี่ขามะพร้าวสามารถดำเนินการได้โดยใช้วิธีการต่างๆ ดังนี้
1. พ่นสารกำจัดไรในระยะมะพร้าวติดจั่นจนถึงระยะผลเล็ก ด้วยสารเคมี ดังนี้
1.1 โพรพาไกต์ 30% WP อัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
1.2 อะมิทราซ 20% EC อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
1.3 กำมะถันผง 80% WP อัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
1.4 ไพริดาเบน 20% WP อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
โดยพ่นสารกำจัดไรทุก 7 วัน อย่างน้อย 4 ครั้ง และสลับเปลี่ยนกลุ่มสารในการพ่นสารทุก 2 ครั้ง เพื่อลดการต้านทานสารของไรศัตรูพืช
2. กรณีที่พบการเข้าทำลายรุนแรงในพื้นที่ปลูกมะพร้าวและล้งรับซื้อผลมะพร้าว ให้ดำเนินการตัดช่อดอก ช่อผล ผลที่พบอาการถูกทำลายจากไรสี่ขามะพร้าว และเศษซากจากการปอกมะพร้าวก่อนจำหน่าย นำมากองรวมกัน และพ่นด้วยสารกำจัดไรตามคำนะนำ จากนั้นคลุมด้วยผ้าพลาสติก อย่างน้อง 10 วัน
ทั้งนี้ การกำจัดไรสี่ขามะพร้าว แนะนำให้ใช้สารเคมีตามคำแนะนำข้างต้นเท่านั้น ไม่ควรฉีดสารกำจัดไรเข้าต้นมะพร้าว เนื่องจากสารเคมีจะไม่ถูกตัวไรโดยตรง และไม่ควรใช้สารรมในพื้นที่ปลูกมะพร้าว เนื่องจากการรมจะต้องมีการดำเนินการในพื้นที่ปิด และดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น