ระวัง หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ในข้าวโพด (ข้าวโพดฝักสด,ข้าวโพดหวาน, ข้าวโพดเทียน, ข้าวโพดข้าวเหนียว)

Shortcodes Ultimate

จำนวนผู้เข้าชม : 243
ระวัง หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ในข้าวโพด (ข้าวโพดฝักสด,ข้าวโพดหวาน, ข้าวโพดเทียน, ข้าวโพดข้าวเหนียว)
เตือนผู้ปลูกข้าวโพด (ข้าวโพดฝักสด,ข้าวโพดหวาน, ข้าวโพดเทียน, ข้าวโพดข้าวเหนียว) ในระยะ ทุกระยะ การเจริญเติบโต รับมือหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เพศเมียวางไข่ในเวลากลางคืน โดยวางไข่เป็นกลุ่มใต้ใบ และบนใบพืช แต่ละกลุ่มจะมีไข่ประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ ฟอง มีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม การทำลายพืชเกิดขึ้นในระยะที่เป็นตัวหนอนเท่านั้น หนอนจะระบาดทำลายข้าวโพดตั้งแต่อายุประมาณ ๗ วัน จนกระทั่งออกเป็นฝัก โดยกัดกินยอดและใบข้าวโพดแหว่งหรือกัดกินทั้งแผ่นใบ ทำลายช่อดอกตัวผู้ กัดกินไหม ฝัก เมล็ด และจะพบตัวหนอนหลบซ่อนแสงอยู่ที่ยอดหรือโคนกาบใบข้าวโพด ความเสียหายที่เห็นได้ชัดเจนคือ ในระยะต้นอ่อนทำให้พืชตาย ระยะต้นแก่พืชจะไม่เจริญเติบโต ฝักลีบไม่สมบูรณ์ หากระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตเสียหาย ๗๓ เปอร์เซ็นต์
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
การป้องกันกำจัดโดยวิธีผสมผสาน
๑. การเตรียมดิน ไถพรวนและตากดิน เพื่อกำจัดระยะดักแด้ที่อยู่ในดิน
๒. ระยะก่อนปลูก คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก ด้วยสารไซแอนทรานิลิโพรล ๒๐% เอสซี อัตรา ๒๐ มิลลิลิตรต่อเมล็ดพันธุ์ ๑ กิโลกรัม วิธีคลุกเมล็ด ใส่สารลงไปในถุงพลาสติกปิดปากถุงให้สนิท รีดสารให้ทั่วถุงแล้วจึงเปิดปากถุง นำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดใส่ลงไป มัดปากถุงโดยทำให้ถุงพองลม เขย่าให้ทั่ว เปิดปากถุงผึ่งเมล็ดพันธุ์ให้แห้งในที่ร่ม แล้วจึงนำไปปลูก
๓. ระยะหลังปลูก
๓.๑ หมั่นสำรวจแปลงปลูก ตั้งแต่เริ่มงอก หากพบกลุ่มไข่และตัวหนอนทำการเก็บทำลายทันที
๓.๒ ปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียนไตรโคแกรมม่า แมลงหางหนีบ มวนพิฆาต เป็นต้น
๓.๓ ใช้สารชีวภัณฑ์ พ่นด้วยเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร โดยเฉพาะหนอนระยะแรกๆ ควรพ่นสารชีวภัณฑ์ในช่วงเย็น จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
๓.๔ หากพบการระบาดรุนแรงใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
๓.๕ ใช้อัตราพ่นให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของข้าวโพด ขณะพ่นสารพ่นให้ละอองสารลงสู่กรวยยอดมากที่สุด
การป้องกันกำจัดโดยวิธีใช้สารเคมี
– ต้องสลับกลุ่มสารทุก ๓๐ วัน (๑ รอบวงจรชีวิต) เพื่อลดความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง
– ขณะพ่นสารผู้พ่นควรอยู่เหนือลมเสมอ ผู้พ่นสารควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง
สารที่แนะนำในการป้องกันกำจัด
สารคลุกเมล็ด
IRAC กลุ่ม ๒๘
๑. สารไซแอนทรานิลิโพรล ๒๐% เอสซี อัตรา ๒๐ มิลลิลิตรต่อเมล็ดพันธุ์ ๑ กิโลกรัม
สารเคมีพ่นทางใบ
IRAC กลุ่ม ๕
๑. สารสไปนีโทแรม ๑๒% เอสซี อัตรา ๒๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
๒. สารสไปนีโทแรม ๒๕% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๑๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
IRAC กลุ่ม ๖
๑. สารอีมาเมกตินเบนโซเอต ๑.๙๒% อีซี อัตรา ๒๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
๒. สารอีมาเมกตินเบนโซเอต ๕% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๑๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
IRAC กลุ่ม ๑๓
๑. สารคลอร์ฟีนาเพอร์ ๑๐% เอสซี อัตรา ๓๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
IRAC กลุ่ม ๑๕
๑. สารลูเฟนนูรอน ๕% อีซี อัตรา ๓๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
IRAC กลุ่ม ๒๒
๑. สารอินดอกซาคาร์บ ๑๕% อีซี อัตรา ๓๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
IRAC กลุ่ม ๑๘+๕
๑. สารเมทอกซีฟีโนไซด์+สไปนีโทแรม ๓๐+๖% เอสซี อัตรา ๓๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
IRAC กลุ่ม ๒๘
๑. สารคลอแรนทรานิลิโพรล ๕.๑๗% เอสซี อัตรา ๓๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
๒.สารฟลูเบนไดอะไมด์ ๒๐% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๑๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
สารชีวภัณฑ์
IRAC กลุ่ม ๑๑
๑. เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส สายพันธุ์ไอซาไว อัตรา ๘๐ กรัมหรือมิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
๒. เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส สายพันธุ์เคอร์สตากี้ อัตรา ๘๐ กรัมหรือมิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร