กอป.ติดตามศัตรูมะพร้าวอย่างใกล้ชิด

Shortcodes Ultimate

จำนวนผู้เข้าชม : 58

เมื่อวันที่ 7 – 9 เมษายน 2565 ผอ.กอป มอบหมายให้กลุ่มส่งเสริมการจัดการสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กลุ่มส่งเสริมการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี (ทีมคนรักษ์มะพร้าว) ให้ติดตามสถานการณ์ศัตรูมะพร้าว ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อวางแผนบริหารจัดการ เนื่องจากมีการระบาดของศัตรูมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง มาเป็นเวลานาน

🌴จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากการลงพื้นที่ พบการระบาดศัตรูมะพร้าว เช่น หนอนหัวดำ แมลงดำหนาม ด้วงแรดในพื้นที่ ที่ไม่ได้รับการดูแล เพราะเกษตรกรบางรายไม่ได้มีรายได้หลักจากการปลูกมะพร้าว แปลงจึงไม่ได้รับการดูแล ทั้งนี้ได้เรียนเกษตรจังหวัดให้กำชับเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำเกษตรกรในการป้องกันกำจัดอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีผสมผสานเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ของศัตรูมะพร้าว และเกิดการระบาดที่รุนแรงซ้ำอีก จากรายงานสถานการณ์พบการระบาดของ แมลงดำหนาม 8,787 ไร่ , หนอนหัวดำ 2,438 ไร่ และ ด้วงแรด 1,833 ไร่ (คิดเป็นพื้นที่ระบาด 4.58% , 1.26% และ 0.95% ของพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งจังหวัดตามลำดับ) โดย ศจช ในพื้นที่ได้มีการผลิตขยายพันธุ์แตนเบียน แมลงหางหนีบ สารชีวภัณฑ์ เช่น ไตรโคเดอมา บิววาเรีย เพื่อใช้ในการควบคุมศัตรูมะพร้าวให้กับสมาชิกของศจช พร้อมทั้งจำหน่ายให้กับเกษตรกรภายนอกที่สนใจ ซึ่งได้การตอบรับที่ดีจากเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวนอกจากนี้ทีมงานได้นำแมลงหางหนีบสีดำ ไปปล่อยในแปลงมะพร้าวน้ำหอมที่มีการระบาดของแมลงดำหนาม พบว่าแมลงหางหนีบสามารถเคลื่อนที่ไปยังส่วนยอดของมะพร้าวได้อย่างรวดเร็ว คาดว่าน่าจะเป็นตัวห้ำที่สามารถใช้ควบคุมแมลงดำหนามได้อย่างมีประสิทธิภาพชนิดหนึ่ง

🌴จังหวัดฉะเชิงเทรา จากการลงพื้นที่พบการระบาดศัตรูมะพร้าว เช่น ไรสี่ขา ด้วงแรด ด้วงงวง หนอนหัวดำ แมลงดำหนาม โดยศัตรูมะพร้าวที่สำคัญ ได้แก่ ไรสี่ขา พบการระบาดในพื้นที่ทั้งหมด 693 ไร่ (คิดเป็นพื้นที่ระบาด 10.40% ของพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งจังหวัด ) สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ดีขึ้นกว่าช่วงที่ระบาดในระยะแรก เนื่องจากเกษตรได้มีการปฏิบัติตามคำแนะนำ เช่น มีการพ่นสารเคมีในระยะติดจั่น รวมทั้งทำลายส่วนที่เป็นแหล่งขยายพันธ์ุของศัตรูมะพร้าว จากนั้นติดตามการดำเนินงานแปลงพยากรณ์การระบาดศัตรูพืชด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่อำเภอคลองเขื่อน (แปลง DOAE 52 ฉะเชิงเทรา ) พบการระบาดของหนอนปลอกระดับไม่รุนแรง และได้แนะนำการใช้แอพพลิเคชั่น DOAE Pest Forecast และ Weather station ให้เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ