วันที่ 14 กันยายน 2563 เจ้าหน้าที่กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.)

Shortcodes Ultimate

จำนวนผู้เข้าชม : 84

วันที่ 14 กันยายน 2563 นายทวีพงศ์ สุวรรณโร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย พร้อมด้วยนางสาวสุภัทธิรา โคตรศิลากูล และนางสาวศิรส สุวรรณมณี นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ณ ศจช.บ้านภูมิสตึง และ ศดปช. บ้านหนองเกาะ อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นศูนย์ที่วิดีทัศน์แสดงความสำเร็จของศูนย์ได้รับการคัดเลือกเป็น “วีดิทัศน์ดีเด่นเพื่อประชาสัมพันธ์ความสำเร็จของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน” ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการสู่ความสำเร็จของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนและศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ที่จัดขึ้นโดยกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย เมื่อวันที่ 18 -20 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สอบถามปัญหา และให้คำแนะนำเกษตรกรสมาชิกศจช.บ้านภูมิสตึง และ ศดปช. บ้านหนองเกาะ พบว่า ศจช. บ้านภูมิสตึง เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรที่คำนึงถึงการทำเกษตรปลอดภัย เนื่องจากประสบปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมีที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมในอดีต กลุ่มจึงมีความเข้มแข็ง เพราะเกษตรกรมีเป้าหมายร่วมกัน และเห็นความสำคัญของกิจกรรมศจช. นอกจากนี้กลุ่มยังมีการขยายผลกิจกรรมไปสู่กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่และเกษตรกรทั่วไปในชุมชน และประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม เป็นที่พึ่งด้านการจัดการศัตรูพืชของชุมชนได้ ดังกรณีที่ศจช.มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขและควบคุมปัญหาการระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรในชุมชนหันมาสนใจและใช้ชีวภัณฑ์มากขึ้น อย่างไรก็ตามกลุ่มยังต้องการการสนับสนุนในเรื่องของวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตและเก็บรักษาชีวภัณฑ์ รวมถึงหัวเชื้อชีวภัณฑ์ที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ

สำหรับ ศดปช. บ้านหนองเกาะ เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ตั้งแต่ปี 2550 โดยมีแนวคิดการนำมูลสัตว์ซึ่งเลี้ยงกันเกือบทุกครัวเรือนในชุมชนมาใช้ประโยชน์ และมีการต่อยอดในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ศดปช.บ้านหนองเกาะประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ มีการให้บริการชุมชนในการตรวจวิเคราะห์ดิน โดยสมาชิกศดปช. สามารถให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินได้ รวมถึงการให้บริการผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินแก่สมาชิกและเกษตรกรในชุมชน มีการบริหารจัดการกลุ่มที่เป็นระบบ ซึ่งเห็นได้จากการรวมหุ้นและปันผลที่โปร่งใส และเนื่องจากมีความต้องการปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดและการรับบริการผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินจากเกษตรกรในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงจำนวนมาก กลุ่มจึงต้องการการสนับสนุนเครื่องผสมปุ๋ยที่มีกำลังผลิตสูงขึ้น
จากการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จของศจช.บ้านภูมิสตึง และ ศดปช. บ้านหนองเกาะ สรุปได้ว่าปัจจัยสู่ความสำเร็ของทั้งสองศูนย์คือ การรวมตัวของสมาชิกที่เห็นความสำคัญในสิ่งเดียวกัน สมาชิกจึงให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมของกลุ่มเป็นอย่างดี อีกปัจจัยภายในกลุ่มที่สำคัญยิ่งคือ ผู้นำกลุ่มเป็นผู้เสียสละ มีความเป็นผู้นำ รู้จักการบริหารจัดการ มีการปฏิบัติให้สมาชิกดูเป็นตัวอย่าง มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาตนเองและชุมชน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกในการขับเคลื่อนศูนย์ให้ประสบความสำเร็จ คือ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทั้งระดับจังหวัดและอำเภอที่สามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มได้ มีความตั้งใจ เอาใจใส่ จริงจัง และทุ่มเทในการส่งเสริมการดำเนินงานของศูนย์ให้ประสบความสำเร็จ