กอป. ติดตามการดำเนินงานด้านดินปุ๋ยในจังหวัดนครพนม

Shortcodes Ultimate

จำนวนผู้เข้าชม : 57

 

เมื่อวันที่ 9 – 10 มีนาคม 2565 กลุ่มส่งเสริมการจัดการดินปุ๋ย โดยนางสาวปนัดดา ทิพยะรัตน์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ นางสาวสุดารัตน์ แช่มช้อย นักวิชาการเกษตรชำนาญการ และนางสาวกรกัญญา อักษรเนียม นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ได้รับมอบหมายให้ไปติดตามการดำเนินงานด้านดินปุ๋ยในจังหวัดนครพนม

ติดตามการดำเนินงานโครงการศึกษาการจัดการดิน ปุ๋ย และน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 แห่ง ของเกษตรกร 3 ราย ในพื้นที่อำเภอปลาปาก ปลูกผักคะน้า และกวางตุ้ง ผลการศึกษา พบว่า แปลงที่ใส่ถ่านชีวภาพหรือไบโอชาร์มีลักษณะผักที่ดีกว่าที่ไม่ใส่ถ่าน เช่น สีเขียวสด กรอบ เกษตรกรจึงนำถ่านชีวภาพไปใช้ในพืชชนิดอื่น ได้แก่ แตงร้าน มะเขือเทศ สลัด พริก บอนสี โดยทุกชนิดได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีกว่าเดิม คือ มะเขือเทศสีสดขึ้น ใบบอนสีมัน สีสันชัดเจนสวยขึ้น แตงร้านเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานขึ้น เป็นต้น

การขยายผลจากแปลงศึกษาสู่เกษตรกรรายอื่น ๆ แปลงศึกษาของเกษตรกรทั้งสามรายได้รับความสนใจจากเกษตรกรในชุมชนเข้ามาเรียนรู้เป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะแปลงศึกษาของผู้ใหญ่เมฆินทร์ มวลปาก ที่ตั้งอยู่ริมถนน “ผมปรับถนนที่รถวิ่งเข้าออกในบ้านเป็นแปลงปลูกผักเพื่อให้เพื่อนบ้านเห็นแปลงศึกษา เข้ามาถาม และเปรียบเทียบผลด้วยสายตาตนเอง แม้ดินไม่เหมาะสม ผักบุ้ง กวางตุ้งยังคงเจริญเติบโต ให้ผลผลิตเพื่อบริโภคเองและแจกจ่ายเพื่อนบ้านได้ โดยเฉพาะแปลงที่ใส่ถ่านชีวภาพมีสีสดมากขึ้น เพื่อนบ้านที่เข้ามาเรียนรู้ในแปลงสนใจใช้นำถ่านชีวภาพไปใช้ในพื้นที่ทำเกษตรของตนเอง แต่ไม่มีเตา ในเบื้องต้นจึงแจกจ่ายถ่านชีวภาพให้ทดลองใช้ก่อน รวมทั้ง ได้นำเรื่องราวการใช้ถ่านชีวภาพปรับปรุงดินไปขยายผลในเวทีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ต.โคกสูง อ.ปลาปากด้วย” ผู้ใหญ่เมฆินทร์ กล่าว
ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนบ้านมิตรภาพ ต.โคกสี อ.วังยาง จ.นครพนม ปุ๋ยแพง…หันมาใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน

หลังจากรวมกลุ่มเป็นศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนบ้านมิตรภาพ ต.โคกสี ตั้งแต่ 2557 มีการดำเนินกิจกรรมดินปุ๋ยมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การให้คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ /จังหวัด สมาชิกทั้ง 30 ราย สามารถเก็บตัวอย่างดิน มาตรวจวิเคราะห์ได้ สมาชิกทุกรายใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ ทำให้ลดค่าปุ๋ยได้มาก ทางศูนย์มีกองทุนสำหรับจัดหาแม่ปุ๋ยบริการสมาชิก ส่วนเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ศดปช. ยังไม่นิยมใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินมากนัก ต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้น ในภาวะปุ๋ยแพง นอกจากใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินแล้ว สมาชิกที่นี่ยังเน้นการไถกลบตอซัง ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมด้วย “ปกติสมาชิก ศดปช. มีการไถกลบตอซัง ใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง”

ในการนี้ ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้ขยายผลการใช้ถ่านชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงดินจากแปลงศึกษาของเกษตรกรอำเภอปลาปาก ไปสู่เกษตรกรในอำเภอวังยาง เนื่องจากมีกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกและรับซื้อโกโก้ ซึ่งมีเปลือกโกโก้เหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก จึงไปให้ความรู้การผลิตและใช้ถ่านชีวภาพ จนทำให้ทุกวันนี้เปลือกโกโก้ถูกใช้ผลิตเป็นถ่านชีวภาพ ใช้เป็นวัสดุผสมดินปลูกกล้าโกโก้ กล้ากระท่อม เป้าหมายผลิตดินปลูกจำหน่ายต่อไป

นับได้ว่า จังหวัดนครพนม เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีการขับเคลื่อนงานดินปุ๋ยได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการดำเนินงานของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน โครงการฯ งานวิจัยไบโอชาร์ และงานอื่น ๆ ทั้งภายใต้ภารกิจงบปริมาณของกรมส่งเสริมการเกษตร และงบพัฒนาจังหวัด ทั้งนี้ มุ่งเป้าเพื่อให้เกษตรกรเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้