กอป. หารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร

Shortcodes Ultimate

จำนวนผู้เข้าชม : 87

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย พร้อมด้วยนางชัญญา ทิพานุกะ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการดินปุ๋ย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย เข้าร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ในการดำเนินธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ภายใต้พระราชบัญญัติปุ๋ย ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร นำโดย นายธรรมนูญ แก้วคงคา ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร นายศุภรัตน์ โฆษิตเจริญกุล ผู้อำนวยการกลุ่มควบคุมปุ๋ย และคณะ ผ่านการประชุมออนไลน์ Zoom Meeting
แม้ว่าแนวปฏิบัติเหล่านี้ ทางกรมวิชาการเกษตร ได้กรุณาให้ข้อเสนอแนะให้การดำเนินโครงการฯ มาอย่างต่อเนื่องและค่อนข้างครอบคลุมแล้ว และทาง กอป. ได้นำชี้แจง พร้อมบรรจุไว้ในคู่มือโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) แต่ยังมีบางประเด็นที่ยังเป็นข้อกังขาของที่ประชุมคณะอนุกรรมการวางแผนและติดตามการจัดทำแพลตฟอร์ม โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เพื่อให้ความกระจ่างในแนวปฏิบัติเกี่ยวกับปุ๋ยสำหรับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ให้เป็นไปตามพระราขบัญญัติปุ๋ย จึงเกิดการประชุมหารือนี้ขึ้น อาทิ กรณีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หากคำแนะนำการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรใช้แม่ปุ๋ยแต่ละสูตรไม่ถึง 50 กิโลกรัม และเกษตรกรมีความประสงค์ซื้อปุ๋ยในปริมาณ ตามคำแนะนำ ไม่ประสงค์ซื้อทั้งกระสอบ ศดปช. สามารถดำเนินการได้ โดยให้เขียนสูตรปุ๋ยหน้ากระสอบให้ชัดเจน กรณี ศดปช. ที่เกษตรกรไม่สะดวกในการผสมปุ๋ยเองสามารถใช้บริการของ ศดปช.ได้ โดยศดปช. สามารถดำเนินการในรูปแบบการอำนวยความสะดวกผสมให้ การให้บริการคลุกแม่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินให้เกษตรกรเป็นราย ๆ ไม่สามารถคลุกเคล้าปุ๋ยรอไว้เป็นจำนวนมาก เพราะนั่นเข้าข่ายการผลิตปุ๋ย ประเด็นระวังในการประชาสัมพันธ์บริการดินปุ๋ยของ ศดปช. มีหลายประการ เช่น ไม่สามารถระบุ สูตรปุ๋ยผสมหรือสูตรสำเร็จในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้ เนื่องจาก ศดปช. ไม่มีใบอนุญาตผลิตปุ๋ยสูตรนั้นๆ สามารถจำหน่ายแม่ปุ๋ย หรือแม่ปุ๋ยสำหรับใช้ตามค่าวิเคราะห์ดินเท่านั้น หลีกเลี่ยงการใช้คำที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดพระราชบัญญัติปุ๋ย เช่น ให้บริการผสมปุ๋ย ผสมปุ๋ยให้ ผลิต แหล่งผลิต แหล่งบรรจุ ให้ใช้คำว่า บริการเสริมคลุกปุ๋ยให้ รวมทั้ง หาก ศดปช. ไหนต้องการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ขอให้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง เช่น กรณีเกษตรกรจะจำหน่ายน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งชื่อที่ถูกต้อง คือ ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำ สามารถทำได้ หากมีสูตรผลิตชัดเจน พิสูจน์ได้ มีค่า OM มากกว่า 10% สามารถขึ้นทะเบียนเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำ แต่หากเป็น น้ำหมักทั่วไป ควรระวังในการจำหน่าย เนื่องจากสุ่มเสี่ยงผิดตามกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)