โรค แมลง ศัตรูพืชและการเข้าทำลาย... ถั่วเหลืองในฤดูแล้ง
 
เผยแพร่ : วันที่ 7 เมษายน 2559
 
 
โรคใบจุดนูน : เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
   
 
 
   
ลักษณะการเข้าทำลาย
                       เกิดจุดสีเหลืองแกมเขียวด้านใต้ใบ ต่อมาขยายขนาดโตขึ้น กลางแผลจะแห้งตกสะเก็ดเป็นตุ่มเล็กๆ สีน้ำตาลคล้ายโรคราสนิม แต่จะมีวงสีเหลืองล้อมรอบ
 
การควบคุมและป้องกัน
                         1. หมั่นสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดศัตรูพืช และสำรวจแปลงสม่ำเสมอ
       
                         2. ฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อแบคทีเรียประเภทสารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์ ออกซี่คลอไรด์ แต่
การใช้สารเคมีประเภทนี้ควรระมัดระวัง ไม่ควรผสมให้เข้มข้นเกินที่แนะนำในฉลาก เพราะอาจทำให้ถั่วเหลืองมีอาการไหม้ได้

                         3. หลังการเก็บเกี่ยว ทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรคให้หมด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคในฤดูถัดไป
 
หนอนแมลงวันเจาะลำต้น
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                     ตัวหนอนจะชอนไชไปตามเส้นใบ ผ่านลำต้นและเข้าไปอาศัยกัดกินเนื้อเยื่อที่ลำต้น มีทั้งชนิดที่กัดกินอยู่ภายใน   และภาย
นอกลำต้นถ้าทำลายในระยะแรกของการเจริญเติบโตจะทำให้ต้นตายแต่ถ้าทำลายในระยะต้นโตจะทำให้ต้นแคระแกร็น ข้อโป่ง  ปล้องสั้น และผลผลิตลดลงพบระบาดทั่วไปในไร่ถั่วเหลืองทุกฤดูปลูก
 
การควบคุมและป้องกัน
                      1. หมั่นสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดศัตรูพืช และสำรวจแปลงสม่ำเสมอ

                      2. การควบคุมโดยชีววิธี  ใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราบิวเวอเรียฉีดพ่น บริเวณที่พบหนอนแมลงวันเจาะลำต้น

                      3. ป้องกันโดยใช้สารเคมี เช่น พ่นสารฆ่าแมลงไตรอะโซฟอส 40% อีซี. อัตรา 40 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร จำนวน 2 ครั้ง พ่นครั้งแรกเมื่อ ถั่วเหลืองอายุระหว่าง 7 - 10 วัน และพ่นซ้ำอีกครั้งหลังจากพ่นครั้งแรก 7 วัน
 
หนอนเจาะฝักถั่ว
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                       ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่บนฝักถั่วเหลืองหรือบริเวณลำต้นใกล้ๆ กับฝักจะวางไข่มากที่สุด  หลังจากถั่วเหลืองติดฝัก 5 - 10 วัน เมื่อฟักออกเป็นตัวหนอนจะเจาะเข้าไปอาศัยกัดกินเมล็ดอยู่ในฝักถั่ว โดยจะพบรอยทำลายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถ้าพบรอยเจาะขนาดโตและมีมูลของหนอนรอบ ๆ รอยเจาะ แสดงว่าเมล็ดถูกทำลายเกือบหมด และหนอนจะมีขนาดโตแล้ว
 
การควบคุมและป้องกัน
                          1. หมั่นสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดศัตรูพืช และสำรวจแปลงสม่ำเสมอ

                          2. การควบคุมโดยชีววิธี ใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราบิวเวอเรียฉีดพ่น บริเวณที่พบตัวหนอน

                          3. การควบคุมโดยใช้สารเคมี ในระยะที่ถั่วเหลืองเริ่มติดฝักอ่อนควรพ่นด้วยสารกำจัดแมลง ดังนี้ ไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 50 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมดาไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร  จำนวน 2 - 3 ครั้งห่างกัน 7 - 10 วัน
 
เพลี้ยอ่อน
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                         เพลี้ยอ่อนจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มบริเวณใต้ใบพืชหรือลำต้นส่วนยอดหรือตามฝักถั่วเหลืองเพื่อดูดกินน้ำเลี้ยง เข้าทำลายตั้งแต่ถั่วเหลืองมีใบประกอบข้อที่ 2 บานเต็มที่ ปริมาณการระบาดสูงสุดในระยะฝักยาวเต็มที่ ทำให้ต้นถั่วเหลืองแคระแกร็น ใบหงิกงอและฝักบิดเบี้ยว ผลผลิตลดลงมากกว่าร้อยละ 30 มูลของเพลี้ยอ่อนเป็นอาหารของราดำ (sooty mold) ทำให้ราดำเจริญเติบโตปกคลุมตามส่วนต่าง ๆ ของพืช
 
การควบคุมและป้องกัน
 
                         1. หมั่นสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดศัตรูพืช และสำรวจแปลงสม่ำเสมอ

                         2. การควบคุมโดยชีววิธี ใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ ด้วงเต่าตัวห้ำ  แมลงช้างปีกใส และแตนเบียนดักแด้

                         3. การควบคุมโดยใช้สารเคมี ถ้าพบการระบาดของเพลี้ยอ่อนให้ใช้สารกำจัดแมลง ดังนี้
                             - ไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร  ฉีดพ่นทุก จำนวน  1 - 2 ครั้ง 7 - 10 วัน
                             - คาร์โบซัลเฟน 20% อีซี อัตรา 50 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก จำนวน  1 - 2 ครั้ง 7 - 10 วัน
 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช
                                       ใกล้บ้านท่าน

 
 
Copyright © 2014 กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร.02 - 955 - 1626, 02 - 955 - 1514