โรค แมลง ศัตรูพืชและการเข้าทำลาย... ถั่วลิสงในฤดูแล้ง
 
เผยแพร่ : วันที่ 28 มีนาคม 2559
 
 
โรคยอดไหม้  : เกิดจากเชื้อไวรัสโดยมีเพลี้ยไฟเป็นแมลงพาหะ
   
 
   
ลักษณะอาการ
                       อาการภายหลังจากการเข้าทำลายของเชื้อในระยะ 2 สัปดาห์แรก ใบจะเกิดจุดสีซีดหรือเป็นปื้นสีน้ำตาลบนใบที่เชื้อเข้าทำลาย จากนั้นจะเกิดอาการเส้นใบซีด หรือจุดกระสีซีดบนใบยอด ก้านใบ และกิ่งที่โค้งงอ ถ้าเป็นโรคในระยะกล้าถั่วลิสงจะตาย หรือแคระแกร็นไม่ติดฝัก และถ้าเป็นในระยะที่ต้นโตจะทำให้การติดฝักลดน้อยลง
 
การควบคุมและป้องกัน
                        1. หมั่นสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดศัตรูพืช  และสำรวจแปลงสม่ำเสมอ
                      
                        2. การควบคุมโดยชีววิธีในสภาพธรรมชาติ    เพลี้ยไฟจะถูกควบคุมประชากรโดยศัตรูธรรมชาติหลายชนิด เช่น แมงมุม
ตัวอ่อนของแมลงวันดอกไม้ ด้วงเต่าแตง มวนดอกไม้ และแตนเบียนไตรโคแกรมม่า  
                      
                       3. ควบคุมเพลี้ยไฟโดยการใช้สารเคมี ได้แก่ สารอัลดีคาร์บ (aldecarb) และคาร์โบฟูแรน (carbofuran) ซึ่งใช้ในรูปเม็ด
ใส่ดิน (granular) หรือคาร์โบซัลแฟน (carbosulfan) , ฟอร์เมโธเอท (formethoate),เมโธมิล (methomyl), และโมโนโครโตฟอส (monocrotophos) ซึ่งใช้ฉีดพ่นทางใบ
 
หมายเหตุ
                        1. ข้อควรพิจารณาในการใช้สารเคมีเพื่อควบคุมโรคยอดไหม้ ก็คือจะต้องใช้ก่อนที่ดรคจะปรากฎให้เห็น   โดยอาจดูจาก
ร่องรอยการทำลายของเพลี้ยไฟ การจัดการโรคโดยทั่วไปมักจะกระทำในลักษระป้องกัน  คือหยอดอัลดีคาร์บหรือคาร์โบฟูแรนรองก้นหลุม
ก่อนปลูก หลังจากนั้น 3 อาทิตย์  จึงฉีดพ่นด้วยคาร์โบซัลแฟนหรือโมโนโครโตฟอสทุก 7 หรือ 14 วัน สำหรับอัต ราสารเคมีควรใช้อัตราสูง
เนื่องจากได้มีการทดลองใช้สารในอัตราต่ำแล้วพบว่ากลับทำให้โรคระบาดมากกว่าในแปลงที่ไม่ได้ใช้สารเคมี 

                        2. การควบคุมการฉีดพ่นสารเคมีให้อยู่ในระดับเท่าที่จำเป็น จะช่วยลดอันตรายที่จะเกิดกับศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยไฟนั้น
การเลือกใช้สารเคมีในรูปใส่ลงดิน (granular form) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดอันตรายกับแมลงที่มีประโยชน์ที่อาศัยอยู่บนส่วนเหนือดิน
 
โรคโคนเน่าขาด : เกิดจากเชื้อรา
 
 
 
 
ลักษณะอาการ
                       ต้นเหี่ยวเหลือง ยุบตัว โคนต้นเป็นแผลสีน้ำตาล พบกลุ่มสปอร์สีดำปกคลุมบริเวณแผล เมื่อถอนขึ้นมาส่วนลำต้นจะขาดจากส่วนราก พบโรคทุกแหล่งและทุกฤดูปลูก พบระบาดรุนแรงในระยะกล้า อายุ 7 - 28 วัน เมื่อฝนทิ้งช่วงประมาณ 7 วัน      แล้วมีฝนตก เชื้อราติดไปกับเมล็ดและอาศัยอยู่ในดิน
 
การควบคุมและป้องกัน
                        1. หมั่นสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดศัตรูพืช และสำรวจแปลงสม่ำเสมอ

                        2. ใช้สารป้องกันกำจัดโรคโคนเน่าขาดของถั่วลิสง ดังนี้
                            - สารไอโปรไดโอน (50% WP) 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นและหยุดการใช้สารก่อนการเก็บเกี่ยว 14 วัน
                            - คาร์เบนดาซิม (50% WP) 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น และหยุดการใช้สารก่อนการเก็บเกี่ยว 14 วัน
                        
                        3. หากต้องการปลูกถั่วรอบใหม่ควรหลีกเลี่ยงการปลูกในพื้นที่เดิมเป็นเวลานานติดต่อกันหลายปี  หรือเปลี่ยนพืชปลูกที่
ไม่ใช่พืชตระกูลถั่ว เช่น ข้าวโพด หรือแตง สลับบ้างเพื่อตัดวงจรการเกิดโรค
 
หนอนชอนใบถั่วลิสง
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                        หนอนผีเสื้อเมื่อฟักออกจากไข่จะชอนเข้าไปกัดกินเนื้อใบ เหลือไว้แต่ผิวใบด้านบนและด้านล่าง ต่อมาใบจะแห้งเป็นสีขาว เมื่อหนอนโตมากขึ้น จะออกมาพับใบถั่ว หรือชักใยดึงใบถั่วมารวมกัน แล้วตัวหนอนจะอาศัยกินอยู่ในนั้นจนโตเต็มที่ จนเข้าเข้าดักแด้ ถ้าระบาดรุนแรงจะทำให้ต้นถั่วแคระแกร็น ใบร่วงหล่น ผลผลิตลดลงมากกว่า 50 %
 
การควบคุมและป้องกัน
                         1. หมั่นสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดศัตรูพืช และสำรวจแปลงสม่ำเสมอ

                         2. หากพบระบาดในระยะเริ่มแรกใช้ศัตรูธรรมชาติควบคุม  เช่น แตนเบียนหนอนชอนใบหรือใช้สารสกัดจากสะเดา

                         3. สำรวจพบความเสียหายมากกว่าร้อยละ  30  ให้ใช้สารเคมีคาร์โบฟูแรน (Furadan 3% G) อัตรา 6 กก.ต่อไร่ ใส่ดิน
พร้อมปลูกหรือพ่นด้วย ไตรอะโซฟอส 0.1% (Hostathion 40% EC) ตามอัตราแนะนำ
 
เพลี้ยอ่อน
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                          เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก ทำลายพืชโดยดูดกินน้ำเลี้ยงตามยอดอ่อน ใบอ่อน ดอก ถ้าเข้าทำลายในขณะที่ต้นพืชยังเล็ก จะทำให้ต้นแคระแกรน ใบอ่อน ยอดอ่อนหงิกงอ แต่ถ้าต้นถั่วอยู่ในระยะออกดอก จะทำให้ดอกร่วง
 
การควบคุมและป้องกัน
                           1. หมั่นสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดศัตรูพืช และสำรวจแปลงสม่ำเสมอ

                           2. หากพบระบาดในระยะเริ่มแรกให้ใช้แมลงศัตรูธรรมชาติควบคุมการระบาด เช่น ด้วงเต่าตัวห้ำ แมลงช้างปีกใส และ
และแตนเบียนดักแด้
                           
                           3. สำรวจหาดพบเพลี้ยอ่อนในระยะออกดอก  หรือติดฝักอ่อนมากกว่า 10 ตัวต่อใบ  ให้พ่นด้วย ไตรอะโซฟอส 0.1%
(Hostathion 40% EC) จำนวน 1 - 2 ครั้ง โดยพ่นเป็นจุด ๆ ที่พบเพลี้ยอ่อนลงทำลายทุก 10 - 15 วัน
 
หมายเหตุ
                           การควบคุมเพลี้ยอ่อนควรทำตั้งแต่เริ่มปลูกโดยการใช้สารเคมีตามคำแนะนำ เช่น คาร์โบฟูแรน  3% G (Furadan 3% G) อัตรา 4 กก.ต่อไร่ หรือ โรยในแถวปลูกหลังจากถั่วงอกได้ 20 - 25 วัน จะสามารถป้องกันเพลี้ยอ่อนและแมลงศัตรูชนิดอื่นในระยะต้นอ่อนได้เป็นอย่างดี
 
เพลี้ยไฟ
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                         ดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบ ตาดอก ดอก และยอดอ่อน ทำให้ใบหงิกงอ บิดเบี้ยว ใบแห้ง กรอบ ลักษณะเหมือนมีไขติดอยู่เส้นกลางใบเป็นสีน้ำตาล ถ้าระบาดรุนแรงจะทำลายช่อดอกทำให้ดอกร่วง ถ้าระบาดช่วงแล้งทำให้ยอดไหม้และตาย เป็นพาหะนำโรคยอดไหม้ และโรคใบจุดเหลือง
 
การควบคุมและป้องกัน
                          1. หมั่นสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดศัตรูพืช และสำรวจแปลงสม่ำเสมอ

                          2. หากพบระบาดในระยะเริ่มแรก ใช้เชื้อราบิวเวอเรียฉีดพ่นบริเวณที่พบเพลี้ยไฟ

                          3. ใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช  ได้แก่ อัลดิคาร์บ คาร์โบฟูแรนในรูปเม็ดใส่ลงดิน หรือคาร์โบซัลแฟน ฟอร์เมโธเอท
และเมโธมิล ฉีดพ่นทางใบ อัตราตามคำแนะนำ
 
เพลี้ยจั๊กจั่น
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                          ดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทำให้แคระแกรน อาจทำให้พืชตายทั้งแปลงได้ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบพืช ถ้าใบพืชยังอ่อนอยู่จะทำให้หดหงิกงอเล็กลง ถ้าใบโตจะทำให้ขอบใบเป็นสีเหลือง (hopper burn) ถ้าระบาดมากขอบใบจะไหม้ห่อขึ้นด้านบนในที่สุดใบจะแห้งตาย และร่วงหล่นไป
 
การควบคุมและป้องกัน

                          1. หมั่นสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดศัตรูพืช และสำรวจแปลงสม่ำเสมอ

                          2. หากพบการระบาดในระยะเริ่มแรก ใช้แมลงศัตรูธรรมชาติควบคุมการระบาด เช่น แมลงช้างปีกใส ด้วงเต่าตัวห้ำหรือ
ใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัด เช่น ใช้บิวเวอเรียฉีดพ่น บริเวณที่พบเพลี้ยจั๊กจั่น

                          3. พบเพลี้ยจักจั่น 5 - 6 ตัวต่อใบควรพ่นด้วยคาร์โบซัลแฟน 0.06% (Posse 20% EC)  หรือคาร์บาริล 0.2% (Sevvin
85% WP) หรือ โอมีโธเอท 0.05% (Folimat 50% SL) ตามอัตราแนะนำ ประมาณ 2 - 3 ครั้ง ทุก 7 - 10 วัน

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่มได้ที่ : สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช
                                       ใกล้บ้านท่าน

 
 
Copyright © 2014 กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร.02 - 955 - 1626, 02 - 955 - 1514