โรค แมลง ศัตรูพืชและการเข้าทำลาย... ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้ง
 
เผยแพร่ : วันที่ 4 เมษายน 2559
 
 
หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด
   
 
 
   
ลักษณะการเข้าทำลาย
                        เริ่มทำลายตั้งแต่ข้าวโพดอายุประมาณ 20 วัน หนอนเจาะลำต้นข้าวโพดจะเจาะเข้าทำลายลำต้นตั้งแต่ยังไม่ออกดอก ในหนึ่งต้นอาจถูกหนอนชนิดนี้เจาะทำลายตั้งแต่    1 - 3 รูต่อต้น มีผลให้ยอดที่จะเจริญเติบโตเป็นดอกเกสรตัวผู้ลดลงหรืออาจทำให้ยอดแห้งตาย ในระยะออกดอก ติดเมล็ดจะพบเข้าทำลายบริเวณใกล้ ๆ กับข้อที่ใกล้กับดอก ทำให้เกิดโพรง และก้านดอกหัก หรือเจาะทำลายข้อที่ใกล้กับฝัก ทำให้ฝักลีบไม่ติดเมล็ดเป็นข้าวโพดฟันหลอ หากพบรูเจาะตั้งแต่ 1 – 20 รูต่อต้น สามารถทำลายข้าวโพดได้เกือบ 100% และเมื่อมีการระบาดอย่างรุนแรงจะส่งผลให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 10 - 40
 
การควบคุมและป้องกัน
                        1. ควบคุมด้วยใช้พันธุ์ต้านทาน ได้แก่ พันธุ์สุวรรณ 1 และพันธุ์สุวรรณ 2

                        2. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอเพื่อสังเกตกลุ่มไข่ ร่องรอยการทำลาย หรือจำนวนตัวหนอน ผีเสื้อจะเริ่มวางไข่ที่ใต้
ใบข้าวโพด เมื่ออายุประมาณ 21 วัน เป็นต้นไป

                     3. ควบคุมด้วยชีววิธี ใช้แมลงหางหนีบ อัตรา 1 ตัวต่อต้น หรือปล่อยแมลง 3 จุดต่อพื้นที่ 1 งาน ร่วมกับปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมา 20,000 ตัวต่อไร่ ปล่อยเมื่อข้าวโพดอายุ 20 - 30 วัน หรือมีการทำลายต่ำกว่าร้อยละ 10 ตามด้วยการปล่อยแตนเบียนไข่เพียงอย่างเดียวอีก 2 - 3 ครั้ง เมื่อพบการทำลายช่วงก่อนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกช่อดอกตัวผู้ หรืออายุ 50 - 60 วันถูกทำลายร้อยละ 40 - 50 หรือพบรูเจาะ 3 รูต่อต้น

                       4. ควบคุมด้วยวิธีเขตกรรม โดยตัดช่อดอกตัวผู้ หลังจากดอกบาน 5 วัน ขึ้นไป ถ้ามีฝักแล้วให้ตัดดอกตัวผู้ออก โดยให้เหลือใบ 2 ใบ จากฝักบน ให้ปลูกข้าวโพดสลับถั่วต่าง ๆ กลุ่มไข่ของหนอนจะน้อยกว่าปลูกข้าวโพดชนิดเดียว หลังเกิดการระบาด ควรทำลายเศษซากพืชอาหารในไร่หลังการเก็บเกี่ยว และกำจัดพืชอาศัย เช่น ข้าวฟ่าง มะเขือ มะเขือเทศ และมันเทศ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งระบาดของแมลงศัตรูชนิดนี้ต่อไป

                       5. เมื่อพบกลุ่มไข่ประมาณ 15 กลุ่มต่อ 100 ต้น หรืออายุข้าวโพดประมาณ 30 - 40 วัน หรือพบใบยอดที่ยังไม่คลี่ถูกทำลายร้อยละ 40 - 60 หรือพบหนอน 2 ตัวต่อต้น ใช้สารเคมีป้องกันกำจัด เช่น  แอลลีสติน 25% ดับเบิลยูพี ในอัตรา 30 กรัม หรือ แซสคิวเลอร์ 5% อีซี ในอัตรา 20 มิลลิลิตร หรือ  แอทาบอร์น 5% อีซี
 
เพลี้ยอ่อนข้าวโพด
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                       เพลี้ยอ่อนจะเกาะรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ ใช้ปากดูดน้ำเลี้ยงตามส่วนของ ยอด ใบ ลำต้น กาบฝัก และจะพบมากที่สุดบริเวณช่อดอก ทำให้เกสรแห้งตาย หากเข้าทำลายต่อเนื่องหลายวันข้าวโพดจะแห้งตายในที่สุด โดยบริเวณที่ถูกดูดกินจะแสดงอาการเป็นสุดสีเหลืองปนแดงทำให้ช่อดอกไม่ได้รับการผสมเกสรและติดเมล็ดน้อยลง ทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 14 ถ้าเข้าทำลายบริเวณช่อดอกทำที่กำลังมีช่อเกสรตัวผู้เป็นระยะที่ข้าวโพดได้รับผลกระทบมากที่สุด  นอกจากนี้ น้ำหวานที่เพลี้ยอ่อนขับถ่ายออกมายังดึงดูดให้แมลงศัตรูชนิดอื่นของข้าวโพด เช่น หนอนเจาะฝัก หนอนเจาะลำต้นมาวางไข่ที่ไหมอีกด้วย
 
การควบคุมและป้องกัน
                         1. ควบคุมด้วยชีววิธีโดยใช้แมลงหางหนีบ อัตรา 1 ตัวต่อต้น หรือปล่อยแมลง 3 จุดต่อพื้นที่ 1 หรือในสภาพธรรมชาติ แมลงที่คอยช่วยทำลายเพลี้ยอ่อนในข้าวโพด คือ ด้วงเต่าลายหกจุด ด้วงเต่าสีส้มเล็ก และด้วงเต่าสีส้มใหญ่ ซึ่งด้วงเต่าทั้ง 3 ชนิดนี้ ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกัดกินเพลี้ยอ่อนได้ประมาณ 100 - 1,116 ตัว

                        2. การควบคุมด้วยสารเคมี เมื่อพบการระบาดมากกว่าร้อยละ 25 และเกิดฝนทิ้งช่วง เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นควรพ่นการพ่นสารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ มาลาไธออน 57% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ บาซูดิน 60% อีซี อัตรา 15 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เซฟวิน 85% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ไม่ควรจะพ่นคลุมทั้งพื้นที่ แต่ควรจะพ่นเป็นจุด ๆ ที่มีเพลี้ยระบาดอยู่เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายแมลงที่เป็นประโยชน์และลดค่าใช้จ่าย  
 
เพลี้ยไฟข้าวโพด
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                          ในภาวะแห้งแล้งมักจะพบเพลี้ยไฟบนต้นข้าวโพดทั้งต้นอ่อนและต้นแก่  ตัวเมียจะวางไข่ลงไปในใบพืชตามเส้นใบแล้ว
วางไข่ ตัวเมียตัวหนึ่งจะวางไข่ได้ประมาณ 64 ฟอง และจะวางไข่อยู่ 10 - 11 วัน ไข่มีลักษณะคล้ายกับเมล็ดถั่วขนาดของไข่ 0.1 x 0.2 มม. ไข่จะฟักเป็นตัวภายใน   3 - 4 วัน ตัวอ่อนมีการลอกคราบสองครั้ง เพี้ยไฟกัดกินใบ ยอด และฟักอ่อน
 
การควบคุมและป้องกัน
                          1. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอเพื่อสังเกตกลุ่มไข่ ร่องรอยการทำลาย หรือตัวอ่อน เมื่ออายุประมาณ 21 วัน เป็นต้นไป

                         2. กำจัดด้วยพืชสมุนไพร เช่น กระเทียม   โดยนำกระเทียมมาประมาณ 1 กำมือ โขลกให้ละเอียด เติมน้ำร้อนครึ่งลิตร แช่ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง กรองเอาแต่น้ำ ผสมน้ำ 4 ลิตร เติมสบู่ครึ่งช้อนโต๊ะ ฉีดพ่นวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 2 วัน ในตอนเช้า หรือใช้สาบเสือ แห้งหรือสด  มาตำให้ละเอียด ผสมน้ำในอัตราส่วน น้ำหนักผง 400 กรัม ต่อน้ำ 3 ลิตร ถ้าเป็นต้นสดใช้ 1 กก. ต่อน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง นำมากรองเอาแต่น้ำ ผสมน้ำสบู่ หรือแชมพู ครึ่งช้อนโต๊ะต่อน้ำ 5 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วัน ในช่วงเย็น

                           3. ปล่อยแมลงช้างปีกใส

                           4. ใช้สารเคมี เช่น เซฟวิน 85% WUP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พอสส 20% อีซี อัตรา 40 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร

 
 

ข้อมูลจาก : http://www.arda.or.th/kasetinfo/north/plant/corn_insect.html

 
 
Copyright © 2014 กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร.02 - 955 - 1626, 02 - 955 - 1514