โรค แมลง ศัตรูพืชและการเข้าทำลาย... พืชผักในฤดูแล้ง
 
เผยแพร่ : วันที่ 11 เมษายน 2559
 
 
โรคผักที่เกิดจากเชื้อไวรัส
   
 
   
ลักษณะการเข้าทำลาย
                        ในช่วงแล้งพืชผักมักเกิดโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีแมลงปากดูดเป็นพาหะ ซึ่งลักษณะอาการของโรคแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดไวรัส และพืชอาศัย ลักษณะอาการที่มักพบโดยทั่วไป 
                             1. การเจริญเติบโตลดลง และพืชอ่อนแอ ส่งผลให้พืชผักแคระแกร็น ดอกและผลขนาดเล็กลง

                             2. เปลี่ยนแปลงสี อาการที่เห็นชัดเจน เช่น อาการด่าง เขียวสลับเหลือง หรือเขียวเข้มสลับเขียวอ่อน นอกจากนี้อาจ
พบอาการที่พืชเปลี่ยนเป็นสีเหลือง โดยเริ่มจากใบอ่อน เส้นใบเหลือง หรือใส ต่อมาใบอื่น ๆ เหลือง

                             3. อาการเนื้อเยื่อตายอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลเกิดเป็นแผลรูปร่างไม่แน่นอนบางครั้งเป็นวงกลม
หรือวงกลมซ้อน

                             4. รูปร่างผิดปกติ  เป็นผลมาจากเซลล์เจริญเติบโตมาก หรือน้อยกว่าปกติ ซึ่งเกิดได้กับทุกส่วนของพืช ทั้ง ใบ ดอก ผล และเมล็ด เช่น ใบม้วน ใบหงิก ใบบิดเบี้ยว ใบย่น ข้อสั้น แตกยอดมาก
 
การควบคุมและป้องกัน
                        1. เขตกรรมที่เหมาะสม 
                            - ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากโรค เนื่องจากเชื้อไวรัสหลายชนิดสามารถติดไปกับเมล็ดพันธุ์ หรือส่วนขยายพันธุ์
                            - ทำลายต้นที่เป็นโรค โดยการถอนและเผาทันทีที่พบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปยังต้นอื่น ๆ

                        2. กำจัดแมลงพาหะ โดยใช้สารธรรมชาติ ชีวภัณฑ์ หรือสารเคมี
                            - สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราบิวเวอเรีย โดยใช้เชื้อรา 1 กก.ต่อน้ำ 20 ลิตร กรองเอาเฉพาะน้ำไปฉีดพ่นในช่วงเย็น ให้
ถูกตัวแมลง หรือบริเวณที่แมลงอาศัยให้มากที่สุด
                            - สารเคมี เป็นวิธีหนึ่งในการควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน แต่ก็เป็นวิธีสุดท้ายที่จะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น สารเคมีที่
แนะนำได้แก่ ฟิโปรนิล   อิมิดาโคลพริด คาร์บาริล คาร์โบซัลแฟน อัตราตามคำแนะนำ
 
เพลี้ยไฟ (แมลงประเภทปากดูด)
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                       ทำลายพืชผักหลายชนิด เช่น ตระกูลพริกและมะเขือ แตง  หอม  ถั่ว หน่อไม้ฝรั่ง โดยตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอด ใบอ่อน ตาดอก ดอก ทำให้เกิดรอยด้าน หรือรอยแผลสีน้ำตาล ยอด ดอก และตาอ่อน ไม่เจริญเติบโต สำหรับพริกที่ถูกเพลี้ยไฟทำลาย ขอบใบหงิกม้วนงอขึ้นข้างบน ถ้าทำลายดอกทำให้ดอกร่วง หากระบาดในช่วงพริกติดผล ผลบิดงอเสียรูปทรง พบการทำลายเกือบตลอดทั้งปี แต่มักระบาดมากในช่วงหน้าแล้ง ช่วงที่อากาศแห้งแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน 
 
เพลี้ยอ่อน (แมลงประเภทปากดูด)
   
 
 
 
ลักษณะการทำลาย
                          ทำลายพืชผักหลายชนิด เช่น ตระกูลพริกและมะเขือ แตง ถั่ว  กะหล่ำ โดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ยอดอ่อน  ดอก  และฝัก ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต นอกจากนี้ยังเป็นพาหะนำเชื้อโรคไวรัส หลายชนิด  เช่น โรคใบด่างพริกและมะเขือ แตง ซึ่งพบระบาดมากในช่วงอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง
 
แมลงหวีขาว (แมลงประเภทปากดูด)
 
 
 
 
ลักษณะการทำลาย
 
                         ทำลายพืชผักหลายชนิด เช่น ตระกูลพริกและมะเขือ  แตง  ถั่ว กะหล่ำ กระเจี๊ยบเขียว กระเพรา แมงลัก           โดยตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ใบหงิกงอและเหี่ยวแห้ง และต้นแคระแกร็น นอกจากนี้ยังเป็นพาหะนำเชื้อโรคหงิกเหลืองของพริก-มะเขือ พบระบาดมากในฤดูแล้ง
 
การควบคุมและป้องกันแมลงปากดูด
                        1. วิธีกล ใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง 80 กับดักต่อไร่ เพื่อดักจับตัวเต็มวัย

                        2. สารธรรมชาติ เช่น สารสะเดา อัตราเมล็ดสะเดาบด 1 กก.ต่อน้ำ 20 ลิตร หมักไว้ 1 คืน กรองเอากากออกนำน้ำสะเดา
ไปฉีดพ่นแมลง

                        3. สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราบิวเวอเรีย โดยใช้เชื้อรา 1 กก.ต่อน้ำ 20 ลิตร กรองเอาเฉพาะน้ำไปฉีดพ่นในช่วงเย็น ให้ถูกตัวแมลง หรือบริเวณที่แมลงอาศัยให้มากที่สุด
      
                        4. สารเคมี เป็นวิธีหนึ่งในการควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน แต่ก็เป็นวิธีสุดท้ายที่จะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น สารเคมีที่
แนะนำได้แก่ ฟิโปรนิล   อิมิดาโคลพริด คาร์บาริล คาร์โบซัลแฟน อัตราตามคำแนะนำ
                    
 
หนอนใยผัก (แมลงประเภทปากกัด)
 
 
 
 
ลักษณะการเข้่าทำลาย
                          ทำลายผักตระกูลกะหล่ำ มักพบระบาดในแหล่งปลูกผัก สร้างความต้านทานต่อสารเคมีได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตสั้น  และมักรอดพ้นจากสารเคมีโดยตัวหนอนสร้างใยทิ้งตัวลงดิน  หนอนใยผักทำลายผักโดยกัดกินผิวใบ ทำให้เป็นใบ เป็นรูพรุน
 
หนอนกระทู้ผัก (แมลงประเภทปากกัด)
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                         ทำลายพืชผักแทบทุกชนิด เช่น ตระกูลกะหล่ำ พริก-มะเขือ ถั่ว แตง กระเจี๊ยบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง ตัวหนอนที่เพิ่งฟักออกจากไข่จะอยู่รวมกัน เป็นกลุ่ม  แทะกินใบจนเป็นรูพรุน นอกจากกัดกินส่วนใบแล้ว แล้วยังทำลายส่วนดอก ฝัก และผล
 
หนอนกระทู้หอม (แมลงประเภทปากกัด)
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                          ทำลายพืชผักหลายชนิด เช่น พืชตระกูลกะหล่ำ พริก-มะเขือ ถั่ว หนอนระยะแรก ๆ อยู่รวมกัน เป็นกลุ่ม แทะกินผิวใบ เป็นแมลงที่สำคัญต่อการปลูกหอมมากที่สุด โดยหนอนที่เพิ่งฟักจะเริ่มกินใบหอม และเข้าไปอาศัยในหลอดหอม จนเหลือผิวใบบาง ๆ สีขาว ทำให้ยอดเหี่ยวแห้ง มักพบการระบาดรุนแรงในแหล่งที่มีการปลูกผักอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะระบาดรุนแรงในฤดูร้อน
 
หนอนเจาะฝักถั่ว (แมลงประเภทปากกัด)
 
 
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
                         หนอนที่ฟักออกจากไข่ เจาะเข้าไปกัดกินภายในดอกอ่อน และเกสร ทำให้ดอกร่วง เมื่อหนอนโตขึ้นจะเจาะเข้าไปกัดกินภายในฝัก เมล็ดอ่อน ทำให้ฝักและเมล็ดลีบ มักพบระบาดรุนแรงในช่วงฤดูแล้ง
 
 
การควบคุมและป้องกัน (แมลงประเภทปากกัด)
                         1. วิธีกล โดยหมั่นสำรวจแปลงผัก หากพบกลุ่มไข่ หนอน ดักแด้ หรือส่วนของผักที่ถูกทำลาย เช่น ยอด ผล  เก็บทำลาย

                         2. สารธรรมชาติ เช่น สารสะเดา พ่นสารสะเดา อัตรา เมล็ดสะเดาบด 1 กก.ต่อน้ำ 20 ลิตร หมักไว้ 1 คืน กรองเอาเฉพาะน้ำไปฉีดพ่นฉีดพ่น

                             3. สารชีวภัณฑ์  เช่น แมลงศัตรูธรรมชาติ เชื้อรากำจัดแมลง เชื้อบีที      เชื้อไวรัสเอ็น พี วี
                               - แมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น มวนเพชฌฆาต มวนพิฆาต แมลงหางหนีบ เมื่อเริ่มพบหนอน  ปล่อยอัตรา 100 ตัวต่อไร่ และหากพบหนอนปริมาณมากปล่อย 2,000 ตัวต่อไร่
                              - เชื้อรากำจัดแมลง เช่น เชื้อราบิวเวอเรีย  โดยใช้เชื้อรา 1 กก.ต่อน้ำ 20 ลิตร กรองเอาเฉพาะน้ำไปฉีดพ่นในช่วงเย็น ให้ถูกตัวหนอน หรือบริเวณที่หนอนอาศัยอยู่ให้มากที่สุด
                                - เชื้อบีที (Bacillus thuringiensis) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ใช้ในการกำจัดหนอนหนอนผีเสื้อและหนอนด้วงขึ้นอยู่กับ
สายพันธุ์ใช้ควบคุมหนอนวัยแรก ๆ มีประสิทธิภาพกว่าใช้กับหนอนโต อัตราการใช้ตามคำแนะนำในฉลาก
                                - เชื้อไวรัส เอ็นพีวี เป็นเชื้อที่ใช้ในการกำจัดหนอนซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงในการทำลายหนอนศัตรูพืชในประเทศ
มีการผลิตและจำหน่ายเชื้อไวรัส เอ็น พี วี  3 ชนิด ได้แก่ ไวรัส เอ็น พี วี สำหรับหนอนกระทู้ผัก ไวรัส เอ็น พี วี สำหรับหนอนกระทู้หอม และเชื้อไวรัส เอ็น พี วี  สำหรับหนอนเจาะสมอฝ้าย ก่อนใช้จึงต้องสำรวจแปลง เพื่อเลือกใช้ชนิดไวรัสได้อย่างถูกต้อง

 
 


 
 
Copyright © 2014 กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร.02 - 955 - 1626, 02 - 955 - 1514