ข้าว...แมลงศัตรูข้าว
 
ข้อมูล : กลุ่มการจัดการศัตรูพืชหลังการเก็บเกี่ยว
เผยแพรข้อมูล : วันที่ 5 กรกฎาคม 2559
 
สภาพภูมิอากาศทั่วไป
            การคาดหมายในช่วงเดือน กรกฎาคม 2559 จะมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย
มีกำลังปานกลาง ประกอบกับมีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้
บริเวณประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองอยู่ในเกณฑ์เป็นแห่งๆถึงเกือบทั่วไปและมีฝนตกหนักบางแห่ง ต่อจากนั้นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัด
ปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนลดลง

        แมลงศัตรูข้าวมีอยู่หลายชนิดที่เข้าทำลายในหลายช่วงอายุการเจริญเติบโตของต้นข้าาว เช่น ระยะต้นกล้า ได้แก่ เพลี้ยไฟ หนอนกระทู้กล้า เพลี้ยกระโดดหลังขาว ระยะแตกกอ ได้แก่ หนอนกอข้าว และระยะออกรวง ได้แก่แมลงสิง หนอนกระทู้คอรวง แต่ที่สำคัญในช่วงระยะนี้ ได้แก่
 
1. หนอนกระทู้กล้า

          ขณะนี้หลายพื้นที่ในทุกภาคของประเทศไทย เกษตรกรเริ่มทำการปลูกข้าว การเพาะปลูกและข้าวส่วนใหญ่อยู่ในระยะกล้า เกษตรกรควระมัดระวังการระบาดของหนอนกระทู้กล้า ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายต่อนาข้าวของชาวนาได้ ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอเมื่อเริ่มพบ ให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ สำน้กงานเกษตรจังหวัด เพื่อดำเนินการควบคุม และหาแนวทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง

                 หนอนกระทู้กล้ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า   Spodopteramauritia (Boisduval)
 
   
                   
                รูปร่างลักษณะ  : เป็นผีเสื้อกลางคืนปีกคู่หน้าสีเทาปนน้ำตาล ความกว้างของปีกเมื่อกางออกประมาณ 3.5 - 4 ซม. ปีกคู่หลังสีขาว บินเก่งสามารถอพยพได้ไกลเป็นระยะทางหลายสิบหรือหลายร้อยกิโลเมตร วางไข่เป็นกลุ่มบริเวณยอดอ่อนของข้าว ตัวหนอนมีสีเทาถึงเขียวแกมดำด้านหลังมีลายตามความยาวของลำตัวจากหัวจรดท้ายแต่ละปล้องมีจุดสีดำ ตัวหนอนฟักจากไข่ช่วงเช้าตรู่ และรวมกลุ่มกันกัดกินส่วนปลายใบข้าว กลางวันจะหลบอยู่ในดินใต้เศษใบพืช ในพื้นนาที่แห้ง บางส่วนอยู่บนต้นข้าว ส่วนที่อยู่เหนือน้ำในนาลุ่มชอบเข้าดักแด้ในดินหรือบนต้นหญ้าตามคันนา

                 ลักษณะการทำลายและการระบาด  :  หนอนจะทำลายข้าวในเวลากลางคืน ระยะแรกจะกัดกินผิวใบข้าว เมื่อโตขึ้นจะกัดกินทั้งใบและต้นข้าวเหลือไว้แต่ก้านใบ หนอนจะกัดกินต้นกล้าระดับพื้นดิน นาข้าวจะถูกทำลายแหว่งเป็นหย่อมๆ และอาจเสียหายได้ภายใน 1 - 2 วัน ความเสียหายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หนอนมีการเคลื่อนย้ายเป็นกลุ่ม จากการขยายพันธุ์หลายๆ รุ่น บนวัชพืชพวกหญ้า และเคลื่อนเข้าสู่แปลงกล้าและนาข้าวจากแปลงหนึ่ง มักพบระบาดช่วงหลังน้ำท่วม เนื่องจากพืชอาหารพวกวัชพืชตระกูลหญ้ามีปริมาณไม่เพียงพอ

                 กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้

                1. ควรถางหญ้าบริเวณคันนาของแปลงกล้าให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะหนอนกระทู้กล้าชอบอาศัยกินหญ้าบริเวณคันนาเป็นอาหารก่อนที่จะแพร่ระบาดคลุกลามเข้าแปลงกล้า
                2. เมื่อเกิดหนอนระบาดในแปลงกล้า ถ้าสามารถระบายน้ำเข้าแปลงกล้าจนท่วมยอดข้าว และเก็บหนอนมาทำลายทิ้งเสียก่อนจะปล่อยน้ำออกจากแปลงกล้า

                3. เมื่อพบใบข้าวถูกทำลายมากกว่าร้อยละ 15 ใช้สารเคมี ดังนี้

                    - คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์20% อีซี) อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
                    - มาลาไทออน (มาลาไธออน83% อีซี) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

                  

2. โรคไหม้ข้าวระยะแตกกอ
                เกษตรกรที่ปลูกข้าวอยู่ในระยะข้าวแตกกอควรระวังโรคไหม้ระบาด สำหรับอาการของโรคพบที่กาบใบและข้อต่อใบของลำต้น ขนาดของแผลจะใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า แผลจะลุกลามติดต่อกัน บริเวณข้อต่อใบ มีลักษณะแผลสีน้ำตาลดำและใบมักจะหลุดออกจากกาบใบ โรคนี้สามารถทำความเสียหายให้กับข้าวได้อย่างกว้างขวางและรุนแรง เกษตรกรจึงควรหมั่นออกสำรวจแปลงนาอยู่เสมอ หากพบลักษณะอาการดังกล่าวให้รีบทำการป้องกันกำจัด

                   กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้

                1. ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลง วิธีนี้อาจมีผลกระทบกระเทือนต่อผลผลิตของข้าว แต่จะช่วยไม่ให้ข้าวอ่อนแอต่อโรคมากเกินไป
                2. เพิ่มปริมาณซิลิก้าให้แก่ต้นข้าวเพื่อต้านทานต่อโรคโดยใช้ปุ๋ยหมักและแคลเซียม
                3. ใช้เชื้อบีเอส (บาซิลลัส ซับทิลิส) อัตรา 30 – 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบฉีดพ่น
                4. เพาะกล้าและย้ายปลูกให้เร็วขึ้น และใช้พันธุ์ต้านทาน ได้แก่ กข1 กข9 กข11 สุพรรณบุรี 1 คลองหลวง1
                5. ไม่ควรหว่านข้าวหนาแน่นนัก ควรแบ่งแปลงให้มีการระบายถ่ายเทอากาศดี
                6. การใช้สารเคมีคลุกเมล็ดสำหรับสารเคมีที่แนะนำใช้มี 2 ประเภท ดังนี้
                   1. ใช้คลุกเมล็ด เช่น เบโนมิลผสมไธแรม หรือคาร์ซูก้ามัยซิน คลุกเมล็ดก่อนปลูกหรือแช่เมล็ดในสารละลายเคมีนาน 24 ชั่วโมง ก่อนปลูก
                      2. ใช้ฉีดพ่น ได้แก่ อิดิเฟนฟอส 50 เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา 20 - 25 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร
                        - บลาสติซิเดน-เอส 2 เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา 20-25 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร
                        -ไตรไซคราโซล 75 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 10-16 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร ควรพ่นในแปลงข้าวที่มีประวัติว่าเคยมีโรคระบาดมาก่อน หรือพบว่าใบมีแผลในระยะที่ข้าวตั้งท้อง การใช้สารเคมีฉีดพ่นซ้ำกันหลายครั้ง เชื้อราจะต้านทานสารเคมีหรือดื้อยา ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อต้านทานสารเคมี จึงควรเลื้อกใช้สารเคมีฉีดพ่นสลับกัน
 
 
 
 
Copyright © 2015 กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร.02 - 955 - 1626, 02 - 955 - 1514